ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 25 มี.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนพรรคกรีน” (European Green Party, EGP) จากยุโรป โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐสภายุโรปร่วมลงมติเห็นชอบต่อรายงานความมั่นคงด้านการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ในการสนับสนุนจุดยืนด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างครอบคลุม ระหว่าง EU - ไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ จึงได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐสภาและคณะตัวแทน ที่ให้การยอมรับต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการส่งเสริมพลังเสียงสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังแสดงความขอบคุณต่อสมาชิกพรรคกรีน ที่ให้การสนับสนุนไต้หวัน เข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างเต็มที่เสมอมา พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างแนบแน่น ในด้านการสกัดกั้นข่าวปลอม ความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทาน และการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้า
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันมีบทบาทบนเวทีโลกอย่างเชื่อมันและเป็นรูปธรรม เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ และภัยคุกคามจากข่าวปลอม ไต้หวันได้มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อร่วมปกป้องประชาธิปไตย เสรีภาพและการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ พวกเรายังเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ พรรคกรีนได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายคลึงกับความมุ่งมั่นในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน เชื่อว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเชิงลึกในประเด็นที่ไต้หวัน – เยอรมนี รวมถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ให้ความสำคัญร่วมกัน
Mr. Reinhard Bütikofer ประธานกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาจากพรรคกรีนเดินทางเยือนไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์รวม 3 ประการ ประกอบด้วย (1) การแสดงจุดยืนอันหนักแน่น เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรประสานสามัคคีกันอย่างแนบแน่น ซึ่งไต้หวันได้ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม พร้อมทั้งมีความสมัครสมานสามัคคีอย่างแนบแน่นบนพื้นฐานดังกล่าว (2) หวังที่จะทำความเข้าใจต่อความหลากหลายทางสังคมแบบพหุวัฒนธรรมของไต้หวัน ประชาธิปไตยที่พัฒนาไปอย่างเจริญรุ่งเรือง และสังคมพลเรือนที่เปี่ยมด้วยพลังสดใส เช่น เรียนรู้แนวทางการสกัดกั้นข่าวปลอมอย่างกระตือรือร้นจากไต้หวัน และ (3) การยกระดับโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
Mr. Bütikofer ชี้ว่า นอกจากความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนเช่นนี้ จะแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างแล้ว ยังเป็นแนวทางการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเกี่ยวโยงถึงด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐกิจ ด้วย
Mr. Bütikofer ยังเห็นว่า ประเด็นทางสังคมก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไต้หวันเป็นที่แรกในภูมิภาคเอเชียที่ผ่านกฎหมายว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ในอนาคตMr. Bütikofer หวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมีการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ไม่ควรถูกจำกัดแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควรขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
Mr. Bütikofer ได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของเยอรมนีมาประกอบการชี้แจงว่า สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำเยอรมนี และสมาคมเยอรมนีในไต้หวัน ได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการประชุมของภาคเอกชน ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการเสวนาระหว่างภาคพลเรือนแบบทวิภาคี ซึ่งนับเป็นพัฒนาการแห่งความก้าวหน้าของทั้งสองฝ่าย และได้รับการเฝ้าจับตาจากประชาคมโลกเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับ 3 – 5 ปีก่อนแล้ว สัดส่วนของประชาชนชาวเยอรมันที่มีความตระหนักถึงความสำคัญของไต้หวัน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน