ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 พ.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เป็นประธานในพิธีมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ให้แก่นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเหล่าคณะรัฐมนตรี รวม 13 คน เพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ของคณะรัฐมนตรี ที่ทำให้ประเทศชาติมีความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นในปัจจุบัน โดยปธน.ไช่ฯ ยังกล่าวว่า บนเส้นทางแห่งการปฏิรูปนี้ มีทั้งความกังวล ความเจ็บปวด รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม การที่พวกเรายึดมั่นในแนวคิดที่นำพาไต้หวันไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น ก็สามารถพลิกผันให้ความขัดแย้ง กลับกลายเป็นความสามัคคี อีกทั้งยังรู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้าง “ไต้หวันของโลก” ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า ในอนาคต ไม่ว่าพวกเราจะอยู่ในฐานะใด พวกเราจะยังคงมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้ไต้หวันอย่างยั่งยืนสืบไป
หลังจากที่ปธน.ไช่ฯ เดินทางมาถึง ก็ได้มอบ “เหรียญอิสริยาภรณ์จงซาน” (Order of Dr. Sun Yat-sen) ให้แก่รองปธน.ไล่ชิงเต๋อ และมอบ “เครื่องอิสริยาภรณ์เมฆมงคล” ให้แก่นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน และมอบ “เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราสุกสกาว ชั้นที่1” ให้แก่นายหลินเจียหลง เลขาธิการทำเนียบปธน. นายเจิ้งเหวินช่าน รองนายกรัฐมนตรี นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายหลิวเจี้ยซิน เลขาธิการสภาสอบคัดเลือก นอกจากนี้ ยังได้มอบ “เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราสุกสกาว ชั้นที่ 2” ให้แก่นายชิวกั๋วเจิ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายหลี่ม่งเยี่ยน เลขาธิการสภาบริหาร นายหวงฉงเยี่ยน รองเลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี นายชิวไท่ซาน ประธานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ และนายเหยาเหรินตัว อดีตรองเลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี นายเกาซั่วไท่ อดีตผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ และนางสาวเซียวเหม่ยฉิน ว่าที่รองประธานาธิบดีไต้หวันที่เตรียมจะขึ้นดำรงตำแหน่งในเร็ววันนี้
ปธน.ไช่ฯ กล่าวปราศรัยในระหว่างพิธีว่า ระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พวกเรามุ่งมั่นจับมือกันต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่เส้นทางการปฏิรูปในขั้นแรก ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในทุกขั้นตอน แต่ทุกก้าวล้วนสร้างคุณประโยชน์ให้แก่คนรุ่นหลังของพวกเรา ตลอดจนนำพาประเทศชาติก้าวไปสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ก็เหมือนกับการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญที่ “หากไม่ทำในตอนนี้ ก็จะรู้สึกเสียใจในภายหลัง” หลังจากที่ปธน.ไช่ฯ เข้าดำรงตำแหน่งวาระในเดือนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 ก็ได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการ โดยได้เปิดการอภิปรายร่วมกันเป็นจำนวนบ่อยครั้ง วัตถุประสงค์ของการปฏิรูป ก็เพื่อสร้างหลักประกันทางสวัสดิการให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า พวกเรายังมุ่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคสำหรับอนาคต เพื่อลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ส่งเสริมความสมดุลในแต่ละพื้นที่ และปูรากฐานการพัฒนาของประเทศ พื้นฐานเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของไต้หวัน และเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไต้หวันได้รับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมหน้าไปจากเดิม
ปธน.ไช่ฯ ยังกล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะถูกระบุอยู่ในสมุดปกขาวเชิงนโยบายแล้ว ในปัจจุบัน ไต้หวันยังมีฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการที่พวกเรามุ่งพัฒนาพลังงานสีเขียวอย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่อง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นหลัง
ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่สังคมที่มีความเป็นธรรมและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน พวกเรามุ่งปฏิบัติภารกิจการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมอย่างครอบคลุม ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านความเป็นธรรม และคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นธรรมของกลุ่มชนพื้นเมือง เนื่องจากพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตจะไม่สร้างความบาดหมางให้สังคมไต้หวันเกิดความแตกแยกอีก แต่จะเป็นการหลอมรวมความเชื่อมโยงไว้บนเส้นทางเดียวกัน เช่น บนเส้นทางของสิทธิความเสมอภาคในการสมรส หลังจากเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ทำให้พวกเราตระหนักว่า ไม่ว่าเพศสภาพใด หรือรสนิยมทางเพศเป็นเช่นไร ก็สามารถสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ร่วมกับคนที่เรารักได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ปธน.ไช่ฯ ยังชี้ว่า การปฏิรูปเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประชาธิปไตยของไต้หวัน บนเส้นทางนี้ พวกเรายังมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหม เช่น “เครื่องบินฝึกไอพ่นสมรรถนะสูงรุ่นใหม่ T-5 Brave Eagle” หรือเรือดำน้ำ “Narwhal class Submarine” ต่างก็เป็นการสำแดงให้เห็นถึงศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน และความมุ่งมั่นในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกให้การยอมรับไต้หวัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวันในเชิงลึก
นรม.เฉินฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณปธน.ไช่ฯ ที่ได้รวบรวมคณะรัฐมนตรีเพื่อบรรลุภารกิจตามนโยบายนานาประการ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยปธน.ไช่ฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกคน ร่วมประสานสามัคคีในการก้าวเดินไปข้างหน้า แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคมากมายเพียงใด พวกเราก็ยังสามารถสร้างสรรค์เส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ อันเป็นการนำพาให้ไต้หวันก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
นรม.เฉินฯ ได้ให้คำจำกัดความถึงคณะรัฐมนตรีชุดนี้ของไต้หวันไว้ 6 ประการ ดังนี้ : ประการแรก เป็นคณะทำงานที่กล้าปฏิรูปและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อาทิ การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ สิทธิการสมรสอย่างเสมอภาค การพัฒนาพลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต การเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม และหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวังแต่ยังไม่มีโอกาสหรือยังไม่กล้าลงมือทำ ซึ่งพวกเราประสบความสำเร็จในการคว้าโอกาสนั้นไว้ได้
ประการที่ 2 คือ เป็นคณะทำงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพการทำงาน เพียงระยะเวลาสั้นๆ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคสำหรับอนาคต ได้กระตุ้นให้โครงการก่อสร้างในไต้หวันมีอัตราการขยายตัวที่เด่นชัด ตาม “รายงานดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันโลก ประจำปี 2566” ที่ประกาศโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ในรายการประเภท “โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต” ไต้หวันขยับขึ้นหน้าจากอันดับที่ 19 ของโลก ในปี 2559 มาสู่อันดับที่ 12 ในปี 2566 นอกจากนี้ มาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 ของไต้หวัน ก็ได้ทำให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงการสกัดกั้นอย่างมีประสิทธิภาพของไต้หวัน อันจะเห็นได้จากการที่ในปี 2563 ไต้หวันไม่พบผู้ป่วยยืนยันภายในประเทศเลย และนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลา 4 ปี ไต้หวันก็สูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดาสี่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย และหลังสิ้นสุดสถานการณ์โรคโควิด – 19 รัฐบาลได้มอบเงินอุดหนุน 6,000 เหรียญไต้หวันให้แก่ประชาชน พร้อมผลักดันนโยบาย T-Pass ตลอดจนยังได้ประสานงานแบบข้ามหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่ 3 เป็นคณะทำงานที่มุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันระดับประเทศ ศักยภาพการแข่งขันโลกที่ประกาศโดยสถาบัน IMD ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก แต่ถือเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมมากกว่า 20 ล้านคน ติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว นอกจากนี้ ใน “รายงานดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ปี 2567” ที่ประกาศโดยมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) ยังจัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ส่วน “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ” ที่ประกาศโดยสถาบัน IMD นั้น ไต้หวันอยู่ในอันดับ 1 ของโลก โดยที่ศักยภาพการแข่งขันเชิงดิจิทัล อยู่ในอันดับ 9 ของโลก จึงจะเห็นได้ว่าศักยภาพการแข่งขันของไต้หวันมีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของไต้หวันควบคู่ไปด้วย
ประการที่ 4 เป็นคณะทำงานที่มุ่งธำรงรักษาเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จากข้อมูล “รายงานดัชนีประชาธิปไตย ปี 2566” ที่ประกาศโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ไต้หวันขึ้นครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ รายงานวิจัยการสำรวจคุณลักษณะความเป็นพลเมืองและการรู้หนังสือระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนานาชาติเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (International Association for the Evaluation of Educational Achievement; IEA) แสดงให้เห็นว่า คุณลักษณะของพลเรือนไต้หวันในช่วงวัยที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2534 - 2543 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเป็นอันดับ 1 ในโลก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์เห็นแล้วว่า โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2559 ประสบความสำเร็จในการนำพาเยาวชนไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ประการที่ 5 เป็นคณะทำงานที่ดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นักการเมืองที่ดีควรมีคุณสมบัติเฉกเช่นคนเลี้ยงแกะ ที่ต้องดูแลฝูงแกะของตนให้ดี และนำพาฝูงแกะมุ่งไปสู่แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ดำเนินภารกิจเพื่อบรรลุหลักการ “อำนาจที่แท้จริงคือการบริการ” ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยตรัสไว้
ประการที่ 6 เป็นคณะทำงานที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรคระบาด อุตสาหกรรมเทคโนโลยี การแพทย์หรือระบบประกันทางสุขภาพของไต้หวัน ต่างก็สร้างความประทับใจให้แก่ประชาคมโลก เชื่อว่า ผลสัมฤทธิ์เหล่านี้มาจากการศักยภาพแห่งความเป็นผู้นำของปธน.ไช่ฯ และความมุ่งมั่นของคณะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ในครั้งนี้