สภาบริหาร วันที่ 2 ก.ย. 67
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 นายจั๋วหรงไท้ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. John Dennis ผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำไทเป (British Office Taipei) โดยชี้ว่า อังกฤษเป็นหุ้นส่วนทางการค้าในทวีปยุโรป ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน และไต้หวันก็เป็นหุ้นส่วนทางการค้าในทวีปเอเชีย ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอังกฤษด้วยเช่นกัน โดยเมื่อปีที่แล้ว (2566) ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก (Enhanced Trade Partnership Arrangement, ETP) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือเชิงลึกในด้านต่างๆ ทั้งการลงทุน การค้าเชิงดิจิทัล พลังงานสีเขียวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นต้น นรม.จั๋วฯ ย้ำว่า ในฐานะที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก พวกเราจึงมีหน้าที่ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามีส่วนร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) เพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่ต่อไป
นรม.จั๋วฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ขึ้นดำรงตำแหน่งครบ 100 วันแล้ว ตลอดระยะเวลา 100 วันที่ผ่านมา ทุกวันล้วนเป็นวันแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้น โดยในวันที่ 3 กันยายนนี้ สภาบริหารจะจัด “การประชุมที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” โดยได้รวบรวมผู้นำทางความคิดในด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ และตัวแทนภาคธุรกิจที่เปี่ยมประสบการณ์ในทุกแขนงสาขา เข้าร่วมอภิปรายกันในประเด็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวันและประชาคมโลก พร้อมยื่นข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม โดยในการประชุม นอกจากจะมีการอภิปรายกันในประเด็น 3 มิติหลัก ที่ประกอบด้วย “เศรษฐกิจนวัตกรรม” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “การเติบโตและการยอมรับซึ่งกันและกัน” ผู้เข้าร่วมการประชุมยังจะร่วมอภิปรายกันในประเด็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการพัฒนาต่อไปในด้านการออกแบบซอฟต์แวร์และการบ่มเพาะบุคลากร ซึ่งขณะนี้ ไต้หวันมีความคืบหน้าเบื้องต้นในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กับกลุ่มประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก
ผอญ. Dennis กล่าวขณะปราศรัยว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของปธน.ไล่ฯ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะปธน.ไล่ฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่า แม้ว่าอังกฤษ – ไต้หวัน ต่างจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่นโยบายที่อังกฤษมีต่อไต้หวันจะยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และจะยังคงยึดมั่นในผลประโยชน์ร่วมกันเช่นเคย ผอญ. Dennis ชี้ว่า นับตั้งแต่ที่นรม.จั๋วฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ทั้งสองฝ่ายก็ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยอมรับผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์ ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ผอญ. Dennis เชื่อว่าภายใต้การนำของนรม.จั๋วฯ จะส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผอญ. Dennis ระบุว่า ความสัมพันธ์ ระหว่างอังกฤษ – ไต้หวัน ตั้งบนค่านิยมด้านประชาธิปไตย และหลักการในการให้ความเคารพและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยหลายปีมานี้ ขอบเขตความร่วมมือแบบทวิภาคียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการในหลากหลายด้าน อาทิ การลงนามในความตกลง ETP รวมไปถึงด้านเทคโนโลยี พลังงาน การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ความเสมอภาคทางเพศ การเรียนการสอนรูปแบบ 2 ภาษา และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากร เป็นต้น
ผอญ. Dennis ย้ำด้วยว่า จากกลไกความร่วมมือข้างต้นกับไต้หวัน นอกจากจะเป็นการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนของทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนความยืดหยุ่นทางสังคม เพื่อป้องกันความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญหน้า ควบคู่ไปกับการบูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาระดับสากลที่ทุกสังคมต้องเผชิญหน้า และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ อังกฤษจะมุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมายต่อไป ทั้งการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น