คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ วันที่ 11 มีค. 68
เมื่อช่วงที่ผ่านมา นายเซิ่นโหย่วจง รองประธานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดป้าย “ศูนย์วิจัยการพัฒนาจีนแผ่นดินใหญ่และภูมิภาค” และ “การประชุมเสวนาผลกระทบและผลการวิเคราะห์ของการประชุมสองสภา (Two Sessions) ของจีน ประจำปี 2025” ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยตงไห่ (Tunghai University, THU) เพื่อร่วมเปิดอภิปรายการวิเคราะห์นัยยะ “การประชุมสองสภา” ของจีน กับเหล่านักวิชาการ ตลอดจนร่วมอภิปรายผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
รองปธ.เซิ่นฯ กล่าวว่า ทุกฝ่ายได้เฝ้าจับตาต่อรัฐบาลจีนที่กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2568 ที่ราว 5% อีกทั้งยังเพิ่มอัตราส่วนการขาดดุลทางการคลัง (deficit-to-GDP ratio) สู่ร้อยละ 4 มูลค่าหนี้สาธารณะของประเทศมียอดสะสมเพิ่มขึ้นกว่า 2.9 ล้านล้านหยวนจีน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือมีการขยายสัดส่วนเพิ่มเป็น 32.4% และจะปรับลดดัชนีราคาผู้บริโภค ให้เหลือเพียง 2% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงกดดันภาวะเงินฝืดยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม มาตรการการก่อหนี้สาธารณะอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค ฉุดรั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแข่งขันที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ระหว่างสหรัฐฯ - จีน รัฐบาลจีนจึงต้องการที่จะระดมทรัพยากรเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่างๆ อาทิ การลดความตึงเครียดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ หนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการเงินและการบริหารสังคม เป็นต้น
รองปธ.เซิ่นฯ กล่าวว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจของจีนยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่งบประมาณทางกลาโหมและค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงสาธารณะ ยังคงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 7.2% และ 7.3% ตามลำดับ ซึ่งแซงหน้าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 ที่กำหนดไว้ที่ 5% สะท้อนให้เห็นถึงการเสริมสร้างศักยภาพการรักษาเสถียรภาพของระบบการเมืองและความมั่นคงแห่งชาติของจีน โดยรัฐบาลจีนยังคงเพิ่มขยายงบประมาณทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการความคิด “อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน” และ “อำนาจทางการเมืองและกฎหมายอยู่ในมือ” ส่งผลให้ประเทศรายรอบและพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย เฝ้าจับตาอย่างใกล้ขิด
ต่อประเด็นญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 รองปธ.เซิ่นฯ กล่าวว่า เนื้อความในญัตติ 2758 มิได้มีการระบุถึงไต้หวัน และมิได้มีการยืนยันแน่ชัดว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังมิได้มอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไต้หวันในการประชุมภายใต้ระบบสหประชาชาติ (UN) ในระหว่างที่มีการยื่นเสนอปฏิญญาไคโร (Cairo Declaration) รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลจีนก็ยังคงโจมตีไต้หวันด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอมให้แก่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงสมควรแก่การประณามอย่างรุนแรง
บรรดานักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุม ต่างทยอยกล่าวว่า การประชุมสองสภาของจีน นอกจากจะเป็นการวิเคราะห์นัยยะเชิงนโยบาย “การธำรงรักษาเสถียรภาพ” แล้ว ยังสามารถสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยการวิเคราะห์กระบวนการเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงเบื้องหลังของการกำหนดนโยบายและบริบทของนโยบายที่มีต่อไต้หวัน ตลอดจนจัดสถานการณ์จำลองต่อมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการรับมือให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อไป
นักวิชาการระบุว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนก็ได้รับการมองเห็นที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างการประชุมสองสภา โดยในอนาคต สามารถเฝ้าจับตาผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สวมบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ ระบุถึงแง่มุมการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของนานาประเทศที่รายงานเกี่ยวกับ “การประชุมสองสภา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประชุมสองสภา นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในประเทศแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มการประชาสัมพันธ์ระดับนานานาชาติอีกด้วย โดยเหล่านักวิชาการต่างเน้นย้ำว่า รัฐบาลจีนยังคงมุ่งมั่นชักจูงให้เยาวชนไต้หวันเข้าเป็นแนวร่วม จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มเป้าหมายระมัดระวังความเสี่ยงในการเข้าร่วมกับฝ่ายจีน อีกทั้งยังให้คำชี้แนะว่า รัฐบาลควรเสริมสร้างการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาข้อได้เปรียบของไต้หวัน ในการวิจัยประเด็นจีนในเวทีระดับสากล