31/03/2025

Taiwan Today

การเมือง

วันแรกของการนัดพบระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐของนานาประเทศในการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 8 มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นเทคโนโลยที่มีความน่าเชื่อถือ นำเสนอให้เห็นถึงบริบทใหม่ทางการทูตเชิงบูรณาการของไต้หวัน

19/03/2025
วันแรกของการนัดพบระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐของนานาประเทศในการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 8 มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นเทคโนโลยที่มีความน่าเชื่อถือ นำเสนอให้เห็นถึงบริบทใหม่ทางการทูตเชิงบูรณาการของไต้หวัน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
กระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 18 มี.ค. 68
 
การประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 8 ประจำปี 2568 ที่ร่วมจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ“มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย” (Taiwan-Asia Exchange Foundation, TAEF) เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ โรงแรม Taipei Marriott Hotel กรุงไทเป เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 โดยในวันแรกของกิจกรรม ได้มีการจัดพิธีเปิดและการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาล ในหัวข้อ 4 ประเด็นหลัก ซึ่งมุ่งเน้นการอภิปรายไปที่ “แผนโซลูชันรูปแบบอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ ความทรหดของระบบห่วงโซ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ และการคมนาคมขนส่งรูปแบบอัจฉริยะ” โดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในพิธีเปิด ส่วนรองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉิน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อให้การต้อนรับเหล่าอาคันตุกะและผู้เข้าร่วมเสวนาในการประชุมที่จัดขึ้น ส่วนนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับบรรดาอาคันตุกะและผู้นำในแวดวงภาครัฐ ภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม ผ่านการจัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อการต้อนรับ
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า หัวข้อการประชุม Yushan Forum ประจำปีนี้คือ “มุ่งใต้ใหม่ + : ไต้หวัน ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกและโลกใบใหม่” (New Southbound Policy+ :Taiwan, the Indo-Pacific, and a New World) นำเสนอให้เห็นถึงการปรับตำแหน่งใหม่ของไต้หวัน ภายใต้บริบทระหว่างประเทศ โดยได้นำเอาบทสรุปของการเสวนา ภายใต้ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ตราบจนปัจจุบัน บูรณาการเข้าสู่แผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างไต้หวัน กลุ่มประเทศในภูมิภาคและประชาคมโลกซึ่งครอบคลุมไปถึงการอาศัยข้อได้เปรียบด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี AI และประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) ของไต้หวัน วางรากฐานแผ่ขยายไปสู่ระดับสากล และสร้างความเชื่อมโยงกับประชาคมโลก โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะปกป้องค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกันกับพันธมิตรประชาธิปไตยโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน (Non – red Supply Chain) และความเป็นปึกแผ่นทางดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก มุ่งสู่ทิศทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน
 
รองปธน.เซียวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นโยบายมุ่งใต้ใหม่+” สื่อให้เห็นว่า ไต้หวันกำลังมุ่งขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนออกไปเป็นวงกว้าง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงโอกาสสำคัญของการเชื่อมโยง ระหว่างไต้หวันกับประชาคมโลก เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายลูกผสมที่ไม่เคยมีมาก่อน ไต้หวันไม่เพียงแต่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบในการอยู่รอด ควบคู่ไปกับการรักษาสันติภาพในภูมิภาค ด้วยการอัดฉีดงบประมาณทางกลาโหม และจัดตั้งความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามแล้ว แวดวงผู้ประกอบการภาคธุรกิจของไต้หวัน ก็ต้องมุ่งขยายขีดความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทดแทนได้ ควบคู่กับการยึดมั่นในหลักการ “ความไว้วางใจและการพึ่งพาได้” เพื่อผลักดันให้เทคโนโลยีส่วนสำคัญและระบบห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตย ก้าวขึ้นสู่แบรนด์ตัวแทนของไต้หวัน ที่จะแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปสู่เวทีนานาชาติต่อไป  
 
หนึ่งในไฮไลท์ของการประชุม Yushan ประจำปีนี้ คือการเดินทางมารวมตัวของกลุ่มนักการเมืองที่สำคัญในทวีปยุโรป ที่ได้แสดงจุดยืนและมุมมองสำคัญที่กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปมีต่อไต้หวันอย่างหนักแน่น ในทุกรอบการประชุม  
 
รมว.หลินฯ กล่าวปราศรัยในงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยระบุว่า การประชุม Yushan Forum ในครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ “มหกรรมเมืองอัจฉริยะ ปี 2568 (2025 Smart City Summit & Expo) และมหกรรมเมืองปลอดก๊าซเรือนกระจก ปี 2593 (2050 Net Zero City Expo)” ซึ่งถือเป็นผลสัมฤทธิ์ด้านการทูตเชิงบูรณาการและโครงการร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กลุ่มพันธมิตรอย่างเป็นรูปธรรม โดยหัวข้อว่าด้วย “นโยบายมุ่งใต้ใหม่+” แฝงไว้ซึ่งความหมาย 2 นัยยะ ในอนาคต ไต้หวันจะรุกขยายสู่ประชาคมโลกจากเดิมในภูมิภาค บนพื้นฐานความเชื่อมโยงที่แนบแน่น ขณะเดียวกัน ไต้หวันมีข้อได้เปรียบมากมาย ทั้งในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยี AI แนวหน้าของไต้หวัน พวกเรามีความยินดีและความสามารถที่จะแบ่งปันสู่หุ้นส่วนประเทศมุ่งใต้ใหม่ กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมไปถึงนานาประเทศทั่วโลก โดยรมว.หลินฯ หวังที่จะอุทิศคุณูปการที่เกี่ยวข้องกับแผน “Clean Network” และ “ความเป็นปึกแผ่นทางดิจิทัล” ผ่านรูปแบบ “Taiwan + N” และการผลักดันโครงการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กลุ่มพันธมิตร เพื่อยกระดับขึ้นสู่การเป็น “ไต้หวันที่เชื่อถือได้”(Trusted Taiwan)
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 มีนาคม 2568 ปธน.ไล่ฯ ได้ให้การต้อนรับเหล่าอาคันตุกะที่เข้าร่วมการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 8 โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อผู้เข้าร่วมทุกท่านที่เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อการเจรจาแผนการความร่วมมือในระดับภูมิภาค แสดงให้เห็นว่า พันธมิตรด้านประชาธิปไตยพร้อมยืนหยัดเคียงข้างกัน ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในยุคสมัยใหม่บนโลกใบใหม่ พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้แสดงจุดยืนว่า ไต้หวันจะมุ่งหน้าสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยินดีเปิดรับการมาเยือนของโลกนานาชาติด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลจะนำพากลุ่มผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รุกขยายเข้าสู่ตลาดนานาชาติ เพื่อแผ่ขยายกิ่งก้านศักยภาพทางเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยหวังว่า การมาเยือนของคณะตัวแทนในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสทางความร่วมมือที่เพิ่มพูนมากขึ้น ในด้านเทคโนโลยี AI การแพทย์อัจฉริยะและเทคโนโลยีทันสมัย
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำ ไต้หวันให้คำมั่นว่าจะประสานความมุ่งมั่นกับหุ้นส่วนนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน รวมไปถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในเชิงลึก บนพื้นฐานค่านิยมร่วมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย เพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ และเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน  
 
Mr. Anders Fogh Rasmussen อดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก และประธานมูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย (Alliance of Democracies, AoD) กล่าวว่า การรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของไต้หวันสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ของชาวยูเครน จึงถือเป็นการต่อสู้ร่วมกันของพันธมิตรประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ Mr. Rasmussen ยังได้ระบุว่า มูลนิธิพันธมิตรประชาธิปไตย ก็ได้รับผลกระทบที่เกิดจากรัฐบาลจีน อันเนื่องมาจากที่พวกเราให้การสนับสนุนแก่ไต้หวัน แต่สำหรับ  Mr. Rasmussen แล้ว นี่ถือเป็นเกียรติยศที่น่าภาคภูมิใจ “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน” ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ในปีนี้จะมุ่งเน้นอภิปรายไปที่ประเด็นความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ และแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมด้วยตนเองอย่างเร่งด่วนของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป รวมไปถึงสถานการณ์ล่าสุดในยูเครน อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในทวีปยุโรป กลุ่มประเทศในทวีปจึงควรที่จะเข้าร่วมกิจการในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อย่างกระตือรือร้น ด้วยเหตุนี้ Mr. Rasmussen จึงได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศยุโรป เสริมสร้างความร่วมมือด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับไต้หวัน ให้เกิดความแนบแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป
 
Mr. Rasmussen ให้การยอมรับต่อปธน.ไล่ฯ ที่ได้ประกาศจะจัดสรรงบประมาณทางกลาโหมของไต้หวัน ให้เพิ่มสูงขึ้นถึงสัดส่วนร้อยละ 3 ของ GDP โดย Mr. Rasmussen แสดงทรรศนะว่า ทุกประเทศควรที่จะแบกรับความผิดชอบด้านการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด