กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 ก.พ. 68
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) และนายชิวไท่หยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ (Ministry of Health and Welfare, MOHW) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้น ณ ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ โดยระหว่างการประชุม ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นชอบที่จะร่วมกันจัดตั้ง “คณะที่ปรึกษาแบบข้ามกระทรวง” โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกลไกความร่วมมือทางการแพทย์ระดับนานาชาติ อุตสาหกรรมการแพทย์ สมาคมอุตสาหกรรมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ 2 กระทรวง เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “ทีมบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขไต้หวัน” เพื่อการส่งมอบความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศพันธมิตร ภายใต้โครงการ “การแพทย์อัจฉริยะและอุตสาหรรมด้านสุขภาพ” อันจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณ “การทูตเชิงบูรณาการ” ผ่านการบูรณาการทรัพยากร ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ทุกภาคส่วนในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน กลุ่มประเทศพันธมิตรและบรรดามิตรประเทศ
ในฐานะที่ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นผู้นำไต้หวันคนแรกที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และด้วยความยึดมั่นต่อภูมิหลังความเชี่ยวชาญของตน จึงได้มุ่งผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่บทบาทผู้นำในด้านการแพทย์ระดับโลก ในปี 2567 ซึ่ง ปธน.ไล่ฯ ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศพันธมิตรในพื้นที่หมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ตาม “แผนการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตรนีเซียน มุ่งสู่ความยั่งยืนอัจฉริยะ” ก็ได้สร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ ผ่านการทูตทางการแพทย์ ด้วยการนำเสนอให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่ไต้หวันมีต่อการพัฒนาทางการแพทย์ระดับโลก
รมว.หลินฯ และรมว.ชิวฯ หวังที่จะอาศัยข้อได้เปรียบด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไต้หวัน บูรณาการเข้ากับผลสัมฤทธิ์ทางชีวเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้การผลักดันนโยบาย“อุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” และ “6 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลัก” ในวาระตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน เพื่อมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในเชิงลึกกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มมิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้วิสัยทัศน์ “ไต้หวันสุขภาพดี” ที่ยื่นเสนอโดยปธน.ไล่ฯ สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาคมโลก ตลอดจนเป็นการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในการขยายตลาดสู่นานาชาติต่อไป
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 กระทรวง ต่างร่วมอภิปรายกันในประเด็นแนวทางการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้านสาธารณสุขของไต้หวัน และแผนโซลูชันทางการแพทย์อัจฉริยะ ผ่านโครงการความร่วมมือทางการแพทย์อัจฉริยะกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มมิตรประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า สมควรแก่การบูรณาการ 3 ปัจจัยหลักเข้าไว้ด้วยกัน ทั้ง “บุคลากร เทคโนโลยีและเงินทุน” ในการส่งเสริมการส่งออกของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์อัจฉริยะในภาพรวม ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตร ในการเสริมสร้างศักยภาพทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการบริหารเชิงสาธารณสุข อันถือเป็นการเพิ่มสวัสดิการและความผาสุกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความเจริญรุ่งเรืองในท้องที่ด้วย โดยในอนาคต ปธน.ไล่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยกระตุ้นโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อัจฉริยะของไต้หวัน ในรูปแบบ “การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยศักยภาพการแพทย์” ควบคู่ไปกับการผลักดันการพัฒนากิจการทางการแพทย์ระดับโลก
นอกจากนี้ รัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายยังได้รวบรวมไฮไลท์และผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากโครงการความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบัน อาทิ โครงการการยกระดับประสิทธิภาพด้านการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์และสุขภาพ (Health Information System, HIS) ของปารากวัย ซึ่งประสบความสำเร็จในการวางรากฐานการแพทย์เชิงดิจิทัลในปารากวัย โดยในอนาคต จะมุ่งพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และจะจัดตั้งให้เป็นต้นแบบในพื้นที่หมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ขณะเดียวกัน ความร่วมมือทางการแพทย์อัจฉริยะ ระหว่างไต้หวัน – โรงพยาบาลแห่งชาติปาเลา ก็ได้มีการเพิ่มสาระสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศักยภาพทางสาธารณสุขและการแพทย์ของปาเลา นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมยังมีการร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการเสริมสร้างมาตรการกระตุ้นการเข้าร่วมของกลุ่มผู้ประกอบการ และการเพิ่มประสิทธิภาพทางความร่วมมือ ผ่านโครงการความร่วมมือกับกลุ่มประเทศพันธมิตร ที่ประกอบด้วย กัวเตมาลา เซนต์ลูเซีย เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์วินเซนต์ และเอสวาตินี
รมว.หลินฯ ย้ำว่า การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่กลุ่มพันธมิตร ยังถือเป็นการสร้างอานิสงส์ให้แก่ภาคประชาชนชาวไต้หวันไปด้วยในตัว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา ระหว่างที่รมว.หลินฯ เดินทางเยือนปาเลาในฐานะทูตพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งจากปธน.ไล่ฯ มีอยู่วันหนึ่งที่คณะตัวแทนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน โชคดีที่โรงพยาบาลซินกวง (Shin Kong Wu Ho-Su Memorial Hospital, SKH) ได้ไปจัดตั้งสาขาในปาเลา จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บได้รับการดูแลอย่างมืออาชีพได้ทันท่วงที และสามารถเดินทางกลับสู่มาตุภูมิได้อย่างปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรอันดีงาม ที่เกิดจากความร่วมมือทางการแพทย์ระดับนานาชาติ
ในอนาคต กต.ไต้หวันและ สธ.ไต้หวันจะยังคงจับมือกับหุ้นส่วนในทุกแวดวง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ในการอุทิศคุณประโยชน์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ไต้หวันสุขภาพดี” ควบคู่ไปกับการผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน ให้ได้รับการพัฒนาไปสู่เวทีนานาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ดินแดนแห่งเศรษฐกิจที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ต่อไป