กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 19 ก.พ. 68
เพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน และมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มแนะแนวการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม สำนักงานการศึกษาภาคบังคับ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติไทจง (National Taichung University of Education, NTCU) จัด “การประชุมแนะแนวการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั่วประเทศ ประจำปี 2568” โดยได้เชิญตัวแทนอาจารย์แนะแนวจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หน่วยงานบริหารงานวิชาการ และครูใหญ่โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ที่มุ่งผลักดันหลักสูตรภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ รวม 250 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การผลักดัน และการพัฒนาการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่
สำนักงานการศึกษาภาคบังคับ ชี้แจงว่า การประชุมประจำปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หลักการ “ ความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equity) และการยอมรับความแตกต่าง (Inclusion)” เพื่อขานรับการให้ความสำคัญต่อแนวคิด DEI ของวงการศึกษานานาชาติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่มแนะแนวการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ จะมุ่งยกระดับคุณภาพและความครอบคลุมของหลักสูตร ผ่านการส่งเสริมแนวคิดตามหลักการข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ให้การยอมรับความแตกต่าง ตลอดจนเพื่อสร้างหลักประกันทางการศึกษาและการเติบโตสำหรับนักเรียนทุกคน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมและมีความหลากหลาย
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดเตรียมตารางการประชุมที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายในหัวข้อพิเศษ การประชุมโต๊ะกลม และการจัดแสดงผลงาน เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและประสิทธิภาพของการเรียนการสอนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยใน ระหว่างการบรรยายในหัวข้อพิเศษ ได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการเผชิญกับความทรหดทางการศึกษา ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของผู้นำด้านการศึกษา ผ่านการส่งเสริมการศึกษาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ให้แก่ผู้เข้าร่วม ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ ส่วนการประชุมโต๊ะกลม ได้จัดแบ่งกลุ่มอภิปรายในด้านโครงสร้างองค์กรแนะแนว ความทรหดด้านการบริหารจัดการ และการถกประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอน เพื่อให้คำแนะนำและโอกาสทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ในโซนจัดแสดงผลงานวัฒนธรรมและโซนสร้างปฏิสัมพันธ์ กลุ่มแนะแนวการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในทุกเขตพื้นที่ทั่วไต้หวัน ต่างร่วมแบ่งปันกรณีศึกษา พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานของนักเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ในมิติที่หลากหลายของการศึกษาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ประกอบกับการจัดคูหาวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสกับเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ผ่านภาษา เครื่องแต่งกาย และผลงานหัตถศิลป์ เป็นต้น