ทำเนียบประธานาธิบดี สภาบริหารและกระทรวงพัฒนาดิจิทัล วันที่ 24 ก.พ. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิด “การประชุมสิทธิมนุษยชนโลก RightsCon ประจำปี 2568” พร้อมกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัล มีส่วนช่วยในการผลักดันความก้าวหน้า ยกระดับความโปร่งใสและสร้างศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประสบกับปัญหาการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว การถูกเฝ้าจับตาและความไม่เป็นกลางของอัลกอริทึม (Algorithm Bias) อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ขณะนี้ ไต้หวันกำลังมุ่งส่งเสริมให้การพัฒนาทางดิจิทัล สอดรับต่อค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่คุ้มครองเสรีภาพเฉพาะบุคคล หลีกเลี่ยงการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยรองปธน.เซียวฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับประชาคมโลก ในการลดความเหลื่อมล้ำดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเพลิดเพลินไปกับยุคสมัยแห่งดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม
รอง ปธน. เซียวฯ กล่าวว่า ในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง ไต้หวันได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสังคมที่เปิดกว้างและมีประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชีย พร้อมย้ำว่า ในฐานะที่ไต้หวันเป็น "ประภาคารแห่งประชาธิปไตย" ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเสรีภาพทางดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง และการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ สภาพแวดล้อมอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง สังคมพลเมืองที่เข้มแข็ง และกลไกการบริหารที่โปร่งใส ทำให้เราสามารถกำหนดนโยบายดิจิทัลที่สร้างสรรค์ได้ ตั้งแต่การส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขัน "Presidential Hackathon" หรือ "การแข่งขันแฮกกาธอนชิงถ้วยประธานาธิบดี" ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ยังได้ส่งเสริมแนวทางนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหานโยบายต่างๆ อีกด้วย ปัจจุบัน ไต้หวันพร้อมแล้วที่จะใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อขยายขอบเขตจินตนาการของทั้งรัฐบาลและสังคม อย่างไรก็ตาม กระบวนการปกป้องสิทธิทางดิจิทัลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากไต้หวันยังคงเผชิญกับภัยคุกคามในโลกดิจิทัลที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยและวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพของเรา
รองประธานาธิบดีเซียวฯ ยังกล่าวว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสงครามข่าวปลอม ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายเร่งด่วนที่สุดที่ไต้หวันกำลังเผชิญอยู่ กลยุทธ์เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อบ่อนทำลายกลไกประชาธิปไตยของเรา และทำให้สังคมเกิดความไม่มั่นคง ด้วยสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้น ไต้หวันยังคงตกเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากนี้ การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ได้นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในเชิงจริยธรรมและความปลอดภัย แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การสอดแนม และความไม่เป็นกลางของอัลกอริธึม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้แรงกดดันจากรัฐที่มีแนวคิดแก้ไขประวัติศาสตร์และรัฐบาลเผด็จการ ประเด็นเหล่านี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น
อีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องเผชิญ คือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในระดับโลก รวมถึงช่องว่างทางปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าการพัฒนาในบางสาขาของเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่เรายังคงเห็นว่ายังมีชุมชนทั่วโลกจำนวนมากที่ขาดแคลนเครื่องมือทางดิจิทัลและกลไกการป้องกันที่เพียงพอ ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
รองปธน.เซียวฯ เชื่อว่าการเป็นเจ้าภาพจัดงาน "RightsCon 2025" ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัล แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการปกป้องสิทธิทางดิจิทัล เสริมสร้างความมั่นคงของเครือข่าย และส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไต้หวันเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาท้าทายในโลกดิจิทัลนั้น ต้องอาศัยการเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการแบ่งปันองค์ความรู้ร่วมกัน
ในการประชุมครั้งนี้ นางเติ้งลี่จวิน รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยรอง นรม.เติ้งฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อบริษัท Access Now ที่สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล พร้อมจัดตั้งแพลตฟอร์มที่สำคัญอย่าง RightsCon พร้อมกันนี้ รอง นรม.เติ้งฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าภาพที่กำหนดให้ไต้หวันเป็นสถานที่จัดการประชุมประจำปีนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันมีโอกาสร่วมแบ่งปันการบริหารการปกครองดิจิทัล “รูปแบบไต้หวัน” ที่พวกเรากำลังมุ่งผลักดันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก
ท่ามกลางภัยคุกคามทางความมั่นคงไซเบอร์ที่รุนแรง รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสารสนเทศและปกป้องความยืดหยุ่นของประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐเผด็จการที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตรวจสอบประชาชน ควบคุมความคิดเห็น และสร้างภัยคุกคามของระบอบเผด็จการดิจิทัลต่อทั่วโลก ไต้หวันกลับเลือกแนวทางที่แตกต่าง โดยภาคประชาสังคมและรัฐบาลร่วมมือกันส่งเสริม "การเปิดเผยข้อมูล" และเป็น "รัฐบาลที่เปิดกว้าง" ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
รองนรม.เติ้งฯ ยังเห็นว่า ในทุกยุคสมัย การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างไรก็ตาม สังคมก็มุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างของระบบสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ เพื่อรักษาเสรีภาพ สิทธิ และความเท่าเทียมทางสังคมของทุกคน พร้อมย้ำว่า ภารกิจร่วมกันของรัฐบาลในปัจจุบัน คือ การสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล โดยยึดแนวคิดสิทธิทางดิจิทัลเป็นหลัก สร้างระบบธรรมาภิบาลดิจิทัลที่ดี และให้นิยามสิทธิพลเมือง หน้าที่ของรัฐ และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจขึ้นใหม่ นอกจากนี้ รอง นรม. เติ้งฯ ยังย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงความร่วมมือระดับนานาชาติของพลเมืองโลก เพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อนที่ให้บริการแก่ "มนุษย์และสังคม"
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและป้องกันความรุนแรงทางดิจิทัล โดยในปี 2568 ถือเป็นปีสำคัญในการสร้างรากฐานของธรรมาภิบาลดิจิทัลในไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลได้เสนอการแก้ไข "กฎหมายการบริหารความมั่นคงทางสารสนเทศ" และเตรียมเสนอร่าง "กฎหมายองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา "กฎหมายปัญญาประดิษฐ์พื้นฐาน" และ "กรอบกฎหมายการกำกับดูแลข้อมูล" เพื่อพัฒนา AI ที่มีความน่าเชื่อถือ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมนวัตกรรม ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เสนอ "แผนพัฒนาประเทศอัจฉริยะ 2.0" ซึ่งเป็นแนวทางดิจิทัลใหม่ ที่มุ่งผลักดันห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของระบอบประชาธิปไตยระดับโลก ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยซอฟต์แวร์และข้อมูล โดยเฉพาะการใช้ AI เพื่อพัฒนาสวัสดิการของมนุษย์ ทำให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางของการประยุกต์ใช้ AI ที่เชื่อถือได้
รอง นรม.เติ้งฯ ยังย้ำว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสภาบริหาร ตนเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า "นวัตกรรมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้" และหวังว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้กำหนด 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และไต้หวันมีความยินดีที่จะเสนอให้ "การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสวัสดิการของมนุษย์และโลก" เป็นเป้าหมายที่ 18 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อของ SDGs ด้วย
นอกจากนี้ สำนักงานสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม ภายใต้สภาบริหาร ยังได้ประสานความร่วมมือกับ “สำนักงานเตรียมการของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” และ “สถาบันวิจัยความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” (National Institute of Cyber Security, NICS) ร่วมจัด “การประชุมหารือระหว่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนดิจิทัล ภายใต้แผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 ของไต้หวัน” (International Consultative Session od Digital Human Rights Issues under Taiwan' second National Human Rights Action Plan) เพื่ออภิปรายในประเด็น 2 หลัก ได้แก่ “แนวทางการเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนดิจิทัล ผ่านแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” และ “การบ่มเพาะบุคลากรความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจกับกลยุทธ์และแนวทางการผลักดันสิทธิมนุษยชนดิจิทัลของนานาประเทศ ควบคู่ไปกับการนำประสบการณ์ในการฝึกอบรมบุคลากรความเชี่ยวชาญ มาใช้เป็นแนวทางในการร่างแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 ของไต้หวัน และการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป
นายหลินหมิงซิน รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร ยังกล่าวว่า การพัฒนาดิจิทัลก่อให้เกิดความท้าทายในมิติต่างๆ อาทิ การรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงทางไซเบอร์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง อาทิ สตรี LGBTQIA+ ผู้ทุพพลลาภ เด็กเยาวชนและกลุ่มชนพื้นเมือง หรือแม้กระทั่งบ่อนทำลายรากฐานของพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย ภายใต้ภูมิหลังเช่นนี้ การสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่นานาประเทศจำเป็นต้องร่วมเผชิญหน้า
กระทรวงพัฒนาดิจิทัล (MODA) ชี้ว่า ในฐานะที่ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลก จึงจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากข่าวปลอมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม MODA จะยืนหยัดสร้างสังคมดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม ความเจริญรุ่งเรืองและความยุติธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากพื้นฐานทางสันติภาพและประชาธิปไตยในไต้หวัน ซึ่งในอนาคต ไต้หวันจะใช้ขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ในการขยายบทบาททางการทูตของไต้หวันต่อไป
ด้วยความพยายามของ MODA อัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในพื้นที่ชนบทของไต้หวัน ได้มากถึง 94% อีกทั้งในการทดสอบ “เครือข่ายรายงานการฉ้อโกงทางออนไลน์” และการจัดตั้ง “แพลตฟอร์มข้อความแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐ 111” เพื่อปราบปรามการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต รักษาความเชื่อมั่นทางดิจิทัล รวมไปถึงการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการทดลองอากาศยานไร้คนขับและสงครามไซเบอร์” และ “ศูนย์ทดลองระบบและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี AI” สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นที่นานาประเทศทั่วโลกต้องการเรียนรู้จากไต้หวัน โดย MODA จะเร่งประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้กระทรวงการต่างประเทศ (MOFA) ได้ขยายบทบาทของไต้หวัน ในการสร้างคุณูปการด้านความเชี่ยวชาญทางดิจิทัลให้แก่ประชาคมโลกต่อไป