ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 12 เม.ย. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 12 เมษายน 2568 นายไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวันได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Rotary District 3523 ประจำปี 2568 โดยปธน.ไล่ฯ ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ไต้ห้วันบวกหนึ่ง : การวางฐานกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ของไต้หวัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก” โดยปธน.ไล่ฯ ได้ชี้แจงกลยุทธ์มาตรการรับมือของรัฐบาลรวม 5 ประการ ได้แก่ (1) การปรับมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐฯ ผ่านการเจรจา (2) การยื่นเสนอแผนการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ได้รับผลกระทบ (3) การยื่นเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว (4) เสริมสร้างการวางรากฐานธุรกิจใหม่ในรูปแบบ “ไต้หวัน + สหรัฐฯ” และ (5) การเปิดรับฟังเสียงเรียกร้องจากภาคอุตสาหกรรม โดยปธน.ไล่ฯ เชื่อมั่นว่า หากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านผนึกกำลังกัน ประกอบกับภาคประชาชนในประเทศประสานสามัคคีกันอย่างกลมเกลียว ในระหว่างที่ต้องเผชิญหน้ากับมาตรการภาษีศุลกากรที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า พวกเราจะสามารถพิชิตอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ขณะนี้ ทั่วโลกอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งคว้าโอกาสจากวิกฤตต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความผันผวนในปัจจุบัน ประกอบกับการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และยุคดิจิทัล นอกจากนี้ พวกเรายังต้องมุ่งพัฒนา “เศรษฐกิจรูปแบบคาร์บอนต่ำ” ภายใต้ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เพื่อส่งผลให้ไต้หวันสวมบทบาทในการเป็น “เกาะเทคโนโลยีอัจฉริยะ” อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญหน้ากับการเชื่อมโยงทรัพยากรของกลุ่มประเทศเผด็จการ นอกจากจะต้องมุ่งเสริมสร้างศักยภาพของประเทศชาติแล้ว ยังต้องเร่งกระชับความร่วมมือกับบรรดามิตรประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงการจัดตั้ง “ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” (Non – red Supply Chain) ทั้งนี้ เพื่อให้ไต้หวันมุ่งสำแดงบทบาทเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้เกิดความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า หลังจากที่ปธน.ไล่ฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นต้นมา ก็ได้ทำการจัดตั้ง 3คณะกรรมการพิเศษ ประกอบด้วย "คณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ" ซึ่งมีหน้าที่รับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ "คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการป้องกันประเทศของภาคประชาสังคม" ซึ่งมีหน้าที่ยกระดับความยืดหยุ่นในสังคมรอบด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่างๆ และ "คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพไต้หวัน" ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเพื่อความแข็งแกร่งของประเทศชาติในภายภาคหน้า
เมื่อระบุถึงมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ตามอัตราเฉพาะที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศโดยสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศแล้วว่า ไต้หวันและอิสราเอล ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรายชื่อล็อตแรกของการเปิดการเจรจา ซึ่งการเจรจาผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาผ่านไปได้ด้วยดี เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นมาตรภาษี การขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี รวมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้า อาทิเช่น การควบคุมการส่งออก โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างหวังที่จะร่วมเปิดการเจรจาอีกครั้งในประเด็นข้างต้นอีกครั้ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันให้เป็นไปอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ
สำหรับประเด็นการยื่นแผนการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยสภาบริหาร ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งมอบการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่จำเป็นและทันท่วงทีให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม และกลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นอันดับแรก และจะพิจารณาตามผลกระทบและคุณลักษณะพิเศษของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ในการส่งมอบกลไกการสนับสนุน ควบคู่ไปกับการยกระดับเปลี่ยนผ่านสู่นวัตกรรม ซึ่งแผนการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของสภาบริหารในครั้งนี้ ครอบคลุมรวม 20 มาตรการใน 9 มิติ ด้วยงบประมาณ 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน
สำหรับแผนโครงการการพัฒนาทางเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า กลยุทธ์รูปแบบใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ยื่นเสนอโดยรัฐบาล คือการมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับบรรดามิตรประเทศอย่างกระตือรือร้น รุกขยายตลาดที่มีความหลากหลาย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกการบูรณาการอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศเชิงอุตสาหกรรมของไต้หวัน มุ่งสู่ความครอบคลุมสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่การยกระดับอุตสาหกรรมของไต้หวัน
ส่วนแง่มุมของการวางรากฐานใหม่ในรูปแบบ “ไต้หวัน - สหรัฐฯ” ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไต้หวันเริ่มต้นตั้งแต่ “การก้าวเข้าสู่ประเทศซีกโลกตะวันตก” ต่อเนื่องไปสู่ “มุ่งใต้ใหม่” และประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือ ตลอดจนรุกขยายขอบเขตไปสู่ทวีปอเมริกา โดยสัดส่วนการลงทุนในจีนของผู้ประกอบการไต้หวัน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุนแบบทวิภาคีกับนานาประเทศทั่วโลกอย่างกระตือรือร้น โดยในอนาคต พวกเราจะคว้าสิทธิการเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, CPTPP) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวัน ในการดำเนินตามหลักการ “วางรากฐานที่มั่นคงในไต้หวัน เพื่อแผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก และประชาสัมพันธ์สู่เวทีนานาชาติ” ในทิศทางที่เป็นรูปธรรมต่อไป