ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 15 เม.ย. 68
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน CYBERSEC ประจำปี 2568” พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลได้ประกาศ “แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ ประจำปี 2568” พร้อมทั้งกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” ซึ่งครอบคลุม 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านการปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์ของภาคประชาสังคม สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ครอบคลุม และวิจัยสร้างเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อการสกัดกั้น โดยในอนาคต รัฐบาลไต้หวันจะมุ่งผลักดันสินค้าและการบริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่คิดค้นขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมทุกแขนงยกระดับความยืดหยุ่นในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไต้หวันมุ่งสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นในทุกปี และยกระดับสู่การเป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อันเป็นที่รู้จักในเอเชีย ในปีนี้ นอกจากจะจัดการประชุมบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมกว่า 300 รอบ ยังได้รวบรวมแบรนด์สินค้าความมั่นคงทางไซเบอร์ทั่วโลกกว่า 400 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวน 20,000 คน ภายใต้สถานการณ์ที่ภัยคุกคามทางดิจิทัลยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลและกลุ่มองค์กร ก็ไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพังได้ การประชุมในปีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่พลังสามัคคีของหมู่คณะ ในชื่อ “Team Cybersecurity” ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแนวหน้าระดับโลก เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกันในเชิงลึก ซึ่งนอกจากจะสอดรับต่อความต้องการด้านความมั่นคงทางดิจิทัลแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสรรสร้างระบบป้องกันความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับโลกอีกด้วย
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่บนแนวหน้าในพื้นที่ห่วงโซ่ระยะที่ 1 ซึ่งนอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยกำลังอาวุธจากจีนแล้ว ยังอยู่แนวหน้าในการรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์บนโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เพื่อบรรลุจิตวิญญาณ “ความมั่นคงทางไซเบอร์คือความมั่นคงของประเทศชาติ” ในระหว่างที่ปธน.ไล่ฯ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มุ่งผลักดัน “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์” จากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันก็ทยอยมีมติผ่าน “กฎหมายการบริหารจัดการความมั่นคงทางไซเบอร์” (Cyber Security Management Act) พร้อมทั้งจัดตั้ง “กระทรวงพัฒนาดิจิทัล” (Ministry of Digital Affairs, MODA) และ “สถาบันวิจัยความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” (National Institute of Cyber Security) นอกจากนี้ ในช่วงวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ก็ได้มีการผลักดันแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วย “ความมั่นคงทางไซเบอร์คือความมั่นคงของประเทศชาติ เวอร์ชัน 2.0” โดยกำหนดให้ “ความเป็นเลิศด้านรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” เข้าสู่ “อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 6 ด้านหลักของไต้หวัน” (Six Cores Strategic Industries) เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์
เมื่อเดือนที่แล้ว ปธน.ไล่ฯ ได้ยื่นเสนอแผนกลุยทธ์การรับมือปัญหาความมั่นคงของชาติ รวม 17 รายการ โดยในส่วนความมั่นคงทางไซเบอร์ ปธน.ไล่ฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ประยุกต์ใช้มาตรการแนวทางที่เปี่ยมประสิทธิภาพอย่างกระตือรือร้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่มีเจตนาไม่พึงประสงค์ อาศัยอินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชันและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี AI มาสร้างวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ในไต้หวัน