กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 28 เม.ย. 68
สำนักงานควบคุมอาหารและยา ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Research Center for Biotechnology and Medicine Policy) จัด “การประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเชิงบูรณาการด้านอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์อัจฉริยะ ประจำปี 2568-ไต้หวันเชื่อมโยงสู่ระบบการแพทย์นานาชาติ : โอกาสการส่งออกและการรุกขยายตลาดเครื่องมือการแพทย์อัจฉริยะ” ขึ้น ณ หอประชุมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) ในวันที่ 28 เมษายน 2568 โดยได้ติดต่อเชิญตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาควิชาการและการวิจัยเข้าร่วมแลกเปลี่ยน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นการพัฒนาและส่งออกเทคโนโลยีอุปกรณ์การแพทย์ ส่งเสริมความร่วมมือแบบข้ามแวดวง ตลอดจนบูรณาการระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม ผ่านการวิเคราะห์แนวโน้มระหว่างประเทศ การแบ่งปันประสบการณ์การรุกขยายตลาดนานาชาติ การจัดแสดงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนจับคู่แบบตัวต่อตัว และการให้บริการคำปรึกษาข้อกฎหมายในที่ประชุม ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบอัจฉริยะของไต้หวันในระดับนานาชาติ
สนง.ควบคุมอาหารและยา มุ่งผลักดันนโยบาย “ไต้หวันสุขภาพดี” อย่างกระตือรือร้น ด้วยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์อัจฉริยะ ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคเรื้อรัง เสริมสร้างโครงการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งแห่งชาติ และการผสมผสานระหว่างการแพทย์อัจฉริยะและการดูแลสุขภาพ รวม 11 ภารกิจหลัก ผ่านการอัดฉีดเทคโนโลยีอัจฉริยะ ควบคู่ไปกับการยกระดับกระบวนการและประสิทธิภาพการดูแลทางการแพทย์ ตลอดจนผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบอัจฉริยะของไต้หวัน ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจากนี้ เพื่อขานรับกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบอัจฉริยะในระดับนานาชาติ สนง.ควบคุมอาหารและยาจึงได้มีมติอนุมัติใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ รวมแล้วกว่า 180 ใบ ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งขานรับต่อนโยบายของประเทศชาติ บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีที่หลากหลายและการประยุกต์ใช้ในการรักษาทางคลินิก ทั้งนี้ เพื่อส่งมอบการบริการให้คำปรึกษาในโครงการอุปกรณ์การแพทย์อัจฉริยะ ช่วยกระตุ้นการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ AI ภายในประเทศ และจับคู่อุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะเพื่อการประยุกต์ใช้ในการรักษาทางคลินิก อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพของไต้หวัน ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
ในระหว่างกิจกรรมได้ทำการติดต่อเชิญนายสวี่ไข่เฉิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Acer Medical และนายเย่จ้าวหยวน ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท aetherAI เข้าร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดว่าด้วยการผสมผสานระหว่างอุปกรณ์การแพทย์และการประยุกต์ใช้ AI และการร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรุกขยายตลาดนานาชาติ พร้อมทั้งจัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์การแพทย์ 9 ราย เข้าร่วมจัดแสดงผลงานทางเทคโนโลยี อาทิ เครื่องมือการตรวจวัดคลื่นสมอง ระบบคาดการณ์ความเสี่ยงในการฟอกเลือดด้วย AI แพลตฟอร์มการเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งตับด้วย AI เป็นต้น
เมื่อเผชิญหน้ากับตลาดการแพทย์รูปแบบอัจฉริยะ ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งยกระดับการบูรณาการทรัพยากร ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นแนวคิดเชิงนวัตกรรมและโอกาสทางความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมครั้งนี้