กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 29 เม.ย. 68
เพื่อขานรับธีมหลัก “IP and music” เนื่องในวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day) หรือ World IP Day ประจำปี 2568 กรมทรัพย์สินทางปัญญา (Taiwan Intellectual Property Office, TIPO) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน สมาคมลิขสิทธิ์ดนตรีไต้หวัน (Music Copyright Society of Chinese Taipei, MÜST) และศูนย์ดนตรีไทเป (Taipei Music Center, TMC) จึงได้ประสานความร่วมมือกันจัดกิจกรรมการประชุมแบบเต็มวัน ภายใต้หัวข้อ “IP and music: Feel the Beat of IP” ขึ้น ณ ลานแสดงนิทรรศการ “Live House D” ที่ตั้งอยู่ในศูนย์ดนตรีไทเป ในวันที่ 29 เมษายน 2568 กิจกรรมครั้งนี้สามารถดึงดูดผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรี นักวิชาการและศิลปินเจ้าของผลงาน ให้ความสนใจเข้าร่วม ซึ่งการประชุมทั้งในรอบเช้าและรอบบ่าย มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนรวม 150 คน ส่งผลให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ภาคประชาชนมีต่อแวดวงดนตรีและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
นายเลี่ยวเฉิงเวย อธิบดี TIPO กล่าวขณะปราศรัยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น โดยได้ติดต่อเชิญผู้บรรยายจากแวดวงสาขาต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดนตรี นักกฎหมายและนักธุรกิจการค้า รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ให้เดินทางมารวมตัวกัน ซึ่งขานรับต่อหัวข้อกิจกรรมประจำปีนี้อย่างลงตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าของการสร้างสรรค์ดนตรี และการประยุกต์ใช้ในบริบทใหม่ทางความร่วมมือแบบบูรณาการด้านดนตรี รวมไปถึงการนำเสนอนัยยะและความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ในช่วงเช้าของกิจกรรม มีการจัดประชุมรวมทั้งสิ้น 2 รอบ รอบแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดอภิปรายในประเด็นข้อระเบียบและการรับมือกับลิขสิทธิ์ดนตรี ภายใต้ยุคดิจิทัล ทั้งในเชิงกฎหมายและแนวทางเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ส่วนรอบที่ 2 จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันแนวทางการบูรณาการปัจจัยเชิงพาณิชย์เข้าสู่การสร้างสรรค์ผลงานดนตรี เพื่อเผยให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริง
ในช่วงบ่ายของกิจกรรม ได้มีการจัดการแสดงปาฐกถาขึ้น ทั้งในแง่มุม “การแบ่งปันกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเฉพาะบุคคล” และ “เทคโนโลยี AI ที่ผสมผสานเข้าสู่แวดวงดนตรี”
TIPO แถลงว่า ท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีวิวัฒนาการที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการสร้างสรรค์และประชาสัมพันธ์ผลงานดนตรี นับวันยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้น การก้าวทันยุคสมัยและการให้ความช่วยเหลือศิลปินในการรักษาสิทธิ ส่งเสริมการส่งมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผนวกเข้ากับการคำนึงถึงการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการประยุกต์ใช้เชิงนวัตกรรม ถือเป็นทิศทางที่ TIPO เฝ้าจับตาและมุ่งผลักดันเสมอมา ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางการพัฒนาที่เพิ่มพูนมากขึ้นให้แก่อุตสาหกรรมดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ต่อไป