ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 24 เม.ย. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ทำหน้าที่เป็นประธานใน “การประชุมคณะกรรมการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 4” พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลจะจัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอนที่สามารถเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ควบคู่ไปกับการวางมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM) ในรูปแบบไต้หวันอย่างรัดกุม พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการจัดทำฐานข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์สินค้า ตลอดจนผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมก้าวสู่เวทีนานาชาติ ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาสรรสร้าง “แบรนด์ไต้หวันสีเขียว” พร้อมทั้งอาศัยอิทธิพลทางตลาดการเงิน เป็นตัวขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการที่ยั่งยืนในภาคประชาสังคม และขยายขอบเขตการฝึกอบรมบุคลากรด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า ไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร การเปลี่ยนผ่านสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังคงถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศชาติในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาว โดยรัฐบาลจะประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบ เพื่อนำพาให้ประเทศชาติมุ่งสู่ทิศทางในอนาคต
สาระสำคัญของการกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้ :
นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ “คณะกรรมการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” จัดการประชุมขึ้นอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางวิกฤตกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกและการวางรากฐานใหม่ทางกลไกการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ที่เกิดการปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ทั่วโลก อุปสงค์ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ระยะที่ผ่านมานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความท้าทายนานาประการต่อภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน
การประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) และคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (Financial Supervisory Commission, FSC) ต่างทยอยชี้แจงในหัวข้อรายงาน “การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมจับทิศทางการเปลี่ยนสีเขียว” และ “การเปลี่ยนผ่านสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางการเงิน : ปัจจัยที่ขับเคลื่อนไปสู่ NET ZERO ของไต้หวัน” ตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมร่วมรับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการและความคืบหน้าล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสภาพภูมิอากาศ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือทุกแวดวงในการรับมือกับความท้าทาย มุ่งสู่การเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ พร้อมก้าวไปสู่อนาคตใหม่ที่ยั่งยืน
โดยรัฐบาลจะจัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอนที่สามารถเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ หลีกเลี่ยงมิให้อุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องประสบกับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรในต่างแดน และเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันในการส่งออกของไต้หวัน พวกเราจะมุ่งวางแผนมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) รูปแบบไต้หวันอย่างรัดกุม เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณสมบัติการแข่งขันที่เป็นธรรมและเหมาะสมภายในประเทศ
รัฐบาลจะมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการส่งมอบเครื่องมือตัวช่วยด้านการลดคาร์บอน อาทิเช่น การทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFV) และการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อจัดทำฐานข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ให้มีความสมบูรณ์พร้อมไปทีละขั้น พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก ยกระดับคุณสมบัติให้สอดคล้องต่อกฏระเบียบในเวทีสากล ขณะเดียวกัน พวกเราก็จะกระตุ้นการบูรณาการทรัพยากร ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมก้าวสู่เวทีนานาชาติ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาสรรสร้างให้เกิดเป็น "แบรนด์ไต้หวันสีเขียว"
บนเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านสู่ NET ZERO อุตสาหกรรมการเงินสวมบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยการออกแบบเครื่องมือการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการกำหนดหลักการ ESG เข้าสู่การวิเคราะห์สินเชื่อ ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม หันมาให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จะมุ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการที่ยั่งยืนในภาคประชาสังคมโดยรวม
ไต้หวันถือเป็นตลาดการเงินที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย เนื่องด้วยรากฐานทางการเงินเพื่อความยั่งยืน และสอดรับต่อหลักการ ESG พวกเราสามารถอาศัยบทบาทที่ทรงอิทธิพลของตลาดการเงิน มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่ NET ZERO
ในการประชุมรอบที่แล้ว ปธน.ไล่ฯ แสดงทรรศนะว่า การเสริมสร้างการเสวนาระหว่างภาคประชาสังคมและการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ขณะนี้ หน่วยงานด้านพลังงาน การผลิต การเคหสถาน การคมนาคมขนส่ง การเกษตรและสิ่งแวดล้อม ต่างทยอยยื่นเสนอ “แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” โดยที่สภาบริหาร กระทรวงสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็มุ่งจัดการเสวนากับภาคประชาสังคม ด้วยการติดต่อเชิญตัวแทนหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาควิชาการและการวิจัย รวมไปถึงองค์กรเอกชน เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อให้บรรลุฉันทามติ และระดมสมองในการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน
นอกจากนี้ MOENV ยังได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันระดับอุดมศึกษา จัดตั้ง “สมาพันธ์การบ่มเพาะบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพิชิตเป้าหมาย NET ZERO” โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในระดับภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคตะวันออก ทั้งนี้ เพื่อขยายขอบเขตการฝึกอบรมบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นวงกว้าง ซึ่งนอกจากจะจัดกิจกรรมการบรรยายในรั้วสถาบันการศึกษาแล้ว ปธน.ไล่ฯ ยังหวังที่จะเห็นสถาบันฯ ร่วมคิดค้นหลักสูตรออนไลน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและ NET ZERO สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายและอาจารย์
MOENV แถลงว่า กลไกราคาคาร์บอน นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังถือเป็นกุญแจสำคัญของการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ระบบภาษีคาร์บอนของไต้หวัน มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ MOENV อยู่ระหว่างการยื่นเสนอแนวทางการบังคับใช้การกำหนดราคาคาร์บอน โดยในอนาคต จะผนวกเข้ากับระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade) ที่สอดรับต่อเวทีนานาชาติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขานรับต่อทิศทางการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งหลังจากที่ MOENV ได้ทำการศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศแล้ว ก็ได้รวบรวมให้หน่วยงานภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลังกันในชื่อ “พันธมิตรเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม” (Green Growth Alliance)
MOENV ชี้แจงว่า ในช่วงเริ่มต้น Green Growth Alliance ได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ภาคธุรกิจ รวม 17 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลัก และได้ยื่นเสนอโครงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง หรือภาคธุรกิจที่มีส่วนร่วมในโครงการริเริ่ม Science Based Targets (SBTi) พร้อมระบุว่า ในอนาคต จะติดต่อเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามีส่วนร่วม ทั้งกระทรวงเศรษฐการ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน และ Taiwan Carbon Solution Exchange (TCX) พร้อมกันนี้ MOENV ยังแถลงว่า Green Growth Alliance ของไต้หวันจะอ้างอิงหลักจิตวิญญาณ Green Transformation (GX) ผนวกเข้ากับศักยภาพของภาครัฐและภาคธุรกิจ ในการผลักดันภารกิจ รวม 5 มิติหลัก ดังนี้ : (1) เข้าร่วมจัดตั้งศักยภาพความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกราคาคาร์บอน (2) ทดลองดำเนินการตามแผนระบบจำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ข้างต้น (3) ผลักดันกลไกความร่วมมือด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ (4) การเสริมสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมสีเขียว และกลไกการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมไปถึง (5) การจัดการประชุม การฝึกอบรมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนต่างๆ
นายเผิงฉี่หมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายใหม่ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และสร้างแรงจูงใจด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอ MOENV จึงได้วางแผนให้ทำการทดลองใช้กลไกราคาคาร์บอน ที่ผสมผสานระหว่างระบบที่จำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade) และกลไกราคาคาร์บอนที่ดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะอาศัยการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำหนดปริมาณโควตาจัดสรรก๊าซเรือนกระจก และกลไกการแลกเปลี่ยนทางการค้า ในการยกระดับประสิทธิภาพการลดคาร์บอน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนทั่วโลก
รมว.เผิงฯ กล่าวว่า ภารกิจการเปลี่ยนผ่านสู่ NET ZERO มิสามารถอาศัยแรงกำลังจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องพึ่งพาความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของภาคประชาชนและอุตสาหกรรม การจัดตั้ง Green Growth Alliance ขึ้น ถือเป็นการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งกำหนดให้หน้าที่ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ถูกผนวกรวมเข้าสู่ปัจจัยการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม หลังจากนี้ MOENV จะมุ่งมั่นรวบรวมประสบการณ์ด้านนโยบายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกลยุทธ์การผลักดันของ Green Growth Alliance ทั้งนี้ เพื่อจับมือกันมุ่งสู่อนาคตที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป