สถาบันวิจัยแห่งชาติ วันที่ 23 ธ.ค. 67
จากการที่ในปี 2567 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น มีเพียงอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละประเภทที่มีการฟื้นตัวช้าเร็วแตกต่างกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ตาม ไต้หวันได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ จึงทำให้ประสบความราบรื่นในการส่งออก ประกอบกับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตขึ้นมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้ง 3 ไตรมาส ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.19 และคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2567 จะปรับขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.23 สำหรับแนวโน้มในอนาคต การที่ลัทธิเอกภาคนิยม (unilateralism) ของสหรัฐฯ ผงาดขึ้น ประกอบกับความท้าทายด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ 2 ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อกลไกการค้าโลกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ความต้องการด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขับเคลื่อนที่เกิดจากอุปสงค์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ อย่างระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และเทคโนโลยี AI ตลอดจนการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน ส่งผลให้การลงทุนเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้พื้นฐานข้อได้เปรียบที่มีอยู่เดิม คาดการณ์ว่าในปี 2568 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยับขึ้นสู่ร้อยละ 3.10 โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการภายในประเทศและความต้องการสุทธิของกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติที่ขยายตัวขึ้นร้อยละ 2.62 และ 0.48 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน
ในด้านการบริโภคของภาคประชาชน ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นเงินเดือนและความมั่งคั่งที่ได้จากการซื้อ – ขายในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับอุปสงค์ด้านการบริโภค ที่พักแรมและการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังคงอยู่ระดับสูง ส่งผลให้สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน อยู่ที่ร้อยละ 3.08 ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของกิจกรรมนันทนาการและการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร มีการขยายกิจการและแคมเปญการตลาดในรูปแบบที่หลากหลาย ส่งผลให้การบริโภคมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยผลประกอบการรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกและร้านอาหารในช่วง 10 เดือนแรกของปี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.68 และ 3.06 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คาดว่า สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.68 ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถิติเมื่อปีที่แล้ว ที่สูงถึงร้อยละ 7.90
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากผู้ประกอบการเล็งเห็นทิศทางการพัฒนาในอนาคต และขยายการลงทุน อันเนื่องมาจากอุปสงค์ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยในไตรมาสที่ 3 อัตราการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ต้นทุนที่คำนวณโดยใช้สกุลเงินเหรียญไต้หวัน เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 29.59 โดยในจำนวนนี้ อุปกรณ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ส่วนอัตราการขยายตัวด้านการลงทุนของภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 8.42 ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.70
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอุปสงค์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ อย่างระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และเทคโนโลยี AI ส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการ ในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 8.92 และ 14.71 ตามลำดับ และเนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ได้รับผลกระทบจากกระแสการจับจ่ายในช่วงปลายปี จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของการนำเข้า – ส่งออกสินค้าและบริการตลอดทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 9.17 และ 11.93 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปี 2568 อุปสงค์ทางเทคโนโลยีเกิดใหม่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบทบาทของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานฮาร์ดแวร์ในรูปแบบ AI ที่นับวันยิ่งมีความสำคัญ จึงคาดว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของค่าครองชีพ ตลอดช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค ลดลงร้อยละ 2 แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารนอกบ้าน ค่าเช่าบ้านและค่าบริการทางการแพทย์ ยังคงครองสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายประเภทการบริการ ในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 2.47 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน อยู่ที่ร้อยละ 2.18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.90 สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ และการปรับเพิ่มค่าไฟ รวม 2 ครั้งในเดือนเมษายนและตุลาคม ส่งผลให้ยอดสะสมตลอดช่วง 11 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วในสัดส่วนร้อยละ1.22 ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวของ CPI และ PPI ตลอดทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.19 และ 1.42
ในแง่ของตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.39 ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2566 กว่าร้อยละ 3.51 สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การประกอบอาชีพที่มีเสถียรภาพ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 และ 2568 อัตราการว่างงานจะยังคงลดหลั่นลงมาสู่ร้อยละ 3.37 และ 3.26% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มในอนาคต จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเร็วๆนี้ ประกอบกับภาพรวมของระบบเศรษฐกิจโลกในปีหน้านี้ มีตัวแปรที่ไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่ไม่สามารถหยั่งรู้ถึงผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองด้วยระบบภาษีศุลกากร ภายใต้การบริหารของว่าที่ ปธน.ทรัมป์แล้ว มาตรการรับมือกับเขตเศรษฐกิจสำคัญ ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด หากรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มระบบภาษีสินค้านำเข้าอย่างครอบคลุม ก็จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และส่งผลให้นโยบายลดดอกเบี้ยต้องประสบกับความท้าทาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการหมุนเวียนเงินทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในปีหน้านี้ ไต้หวันจะต้องพยายามพลิกวิกฤตที่เกิดจากปัจจัยความไม่แน่นอนให้เป็นโอกาสที่เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ Real GDP ไต้หวันในปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.72 - 4.07