28/12/2024

Taiwan Today

สังคม

รัฐบาลไต้หวันเตรียมแก้กฎหมายแพ่งในมาตราที่เกี่ยวกับการปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปี โดยสิทธิของชาวจีนโพ้นทะเลยังคงเดิม

21/08/2020
OCAC แถลงว่า สิทธิของชาวจีนโพ้นทะเลในต่างแดนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขอหนังสือรับรองสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลหรือการขอให้ระบุสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลของตนในหนังสือเดินทาง (ภาพจาก OCAC)

OCAC  วันที่ 20 ส.ค. 63

 

คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (OCAC) แถลงว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปี ที่ทางกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานภาครัฐอีก 14 กระทรวงได้ยื่นเสนอให้มีการแก้ไข รวม 38 มาตรา ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายว่าด้วยการยืนยันตัวตนของชาวจีนโพ้นทะเลในมาตราที่ 13 ที่ OCAC ได้ขานรับต่อการแก้ไขร่างกฎหมายในครั้งนี้ ตามมาตราต่างๆ ข้างต้น โดยสภาบริหาร พร้อมด้วยสภาตุลาการ สภาสอบคัดเลือก และสภาตรวจสอบ จะยื่นญัตติเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อให้ลงมติเห็นชอบต่อไป โดยนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน กล่าวว่า เนื่องจากข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประชาชนมีบัญญัติไว้ค่อนข้างมาก จึงขอให้เลื่อนกำหนดการบังคับใช้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี โดยในเบื้องต้นกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2023 ทั้งนี้ จะมีการประกาศวันที่ที่แน่ชัดตามความคืบหน้าของการพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป


 

การแก้ไขกฎหมายแพ่งในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปีบริบูรณ์ โดยจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิเยาวชนในประเทศ กระทรวงยุติธรรมที่กำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแพ่ง แถลงว่า สืบเนื่องจากหลายปีมานี้ มีหลายประเทศทั่วโลกได้ทยอยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิเยาวชน โดยปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะให้เหลือ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อขานรับกระแสระดับนานาชาติ พร้อมทั้งเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิเยาวชนในประเทศ กระทรวงยุติธรรมจึงได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายแพ่งบางมาตรา โดยนอกจากจะปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะให้เหลือ 18 ปีแล้ว ยังกำหนดให้ชาย – หญิงที่มีอายุครบ 17 และ 18 ปีบริบูรณ์ตามลำดับ เข้าพิธีหมั้นหมายและแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน รวมถึงบรรลุสิทธิความเสมอภาคทางเพศในการสมรส เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)


 

OCAC แถลงว่า ทางหน่วยงานได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการยืนยันตนของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2002 โดยได้พิจารณาจากความจำเป็นของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตราที่ 13 โดยระบุว่า บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์หรือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งมีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์แต่มีสถานภาพสมรสแล้ว สามารถยื่นขอหนังสือรับรองสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเล หรือขอให้ระบุสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลในหนังสือเดินทางได้ โดยไม่ต้องถูกจำกัดจากข้อกำหนดที่ให้ผู้ยื่นขอต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น


 

โดย OCAC ชี้ว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการยืนยันตนของชาวจีนโพ้นทะเลในครั้งนี้ ก็เพื่อจะให้สอดคล้องกับการปรับแก้มาตราต่างๆ ในกฎหมายแพ่ง ในส่วนของการปรับลดอายุบรรลุนิติภาวะเป็น 18 ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ OCAC ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการยืนยันตนของชาวจีนโพ้นทะเลแล้ว บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์สามารถกระทำการต่างๆ ที่มีผลในทางกฎหมายได้ด้วยตนเอง และแน่นอนว่าสามารถยื่นขอหนังสือรับรองสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเล หรือขอให้ระบุสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลในหนังสือเดินทางได้ด้วยตนเองด้วยเช่นกัน สำหรับบุคคลที่แต่งงานแล้วแต่อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ แม้ว่าหลังการผ่านญัตติร่างแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ จะมีการยกเลิกสิทธิดังกล่าวตามที่เคยมี แต่เพื่อรับประกันสิทธิพื้นฐานของชาวจีนโพ้นทะเล OCAC จะมีการเพิ่มข้อความไว้ในข้อกฎหมายใหม่ว่า ให้บุคคลที่มีสถานภาพแต่งงานแล้ว แต่อายุยังไม่ครบ 18 ปีก่อนการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้  หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่แล้ว ยังสามารถยื่นขอหนังสือรับรองสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเล หรือต้องขอให้ระบุสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลในหนังสือเดินทางได้เช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่า  สิทธิในการขอหนังสือรับรองสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเล และขอให้ระบุสถานภาพชาวจีนโพ้นทะเลในหนังสือเดินทาง ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการแก้ไขข้อกฎหมายในครั้งนี้

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด