กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 พ.ย. 64
การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ครั้งที่ 89 ได้เปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 พ.ย. ณ เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี โดยในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่ไต้หวันได้ยื่นขอเข้ามีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างกระตือรือร้น ซึ่งแม้ว่าในท้ายสุดจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่เสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกกลับยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ประชาคมโลกล้วนให้การยอมรับต่อความสำคัญและความเหมาะสมที่ไต้หวันจะเข้าร่วมในการประชุมของ INTERPOL กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอขอบคุณหน่วยงานสภาบริหาร สภานิติบัญญัติ องค์การรัฐสภาแบบข้ามประเทศและหน่วยงานทุกแวดวงของประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศด้วยใจจริง ที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีนานาชาติอย่างหนักแน่น
โดยในปีนี้ มีประเทศพันธมิตรรวม 11 ประเทศในฐานะประเทศสมาชิกของกลุ่ม INTERPOL ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม ด้วยการส่งหนังสือเรียกร้องและการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในเวทีนานาชาติ
Mr. Rick Waters รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก Mr. Ben Knapen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ และ Mr. Abdinasir Omer Jama รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ ต่างให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม INTERPOL ของไต้หวันอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นและออสเตรเลียประจำไต้หวัน ก็ได้แชร์วิดีทัศน์สั้นที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อประชาสัมพันธ์แผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม INTERPOLของไต้หวัน ลงบนเฟซบุ๊กทางการ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มมิตรประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน
ส่วนหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละประเทศ ในปีนี้มีสมาชิกรัฐสภารวม 630 คนจาก 35 ประเทศที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันด้วยวิธีการอันหลากหลาย ซึ่งถือเป็นการได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีความเข้าใจต่อแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม INTERPOL ของไต้หวันเพิ่มมากขึ้น นายหวงเจียลู่ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เผยแพร่บทความพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “ไต้หวันพร้อมเข้าร่วมกระบวนการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ในยุคหลังโควิด – 19” ซึ่งตราบจนปัจจุบัน ได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 130 ฉบับ
นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังได้เรียกร้องให้ INTERPOL ยึดมั่นในจุดยืนแห่งความเป็นมืออาชีพ ร่วมแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมกับไต้หวัน เพื่อให้ไต้หวันสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กลไก การฝึกอบรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถเข้าใช้ข้อมูลในคลังข้อมูล “ระบบสารสนเทศของตำรวจโลกตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อหนึ่งสัปดาห์” (I-24/7 global police communications system) และ “ระบบข้อมูลเอกสารการเดินทางที่ถูกขโมยหรือสูญหาย” (Stolen and Lost Travel Documents, SLTD) ได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่เกิดช่องว่างและช่องโหว่ในเครือข่ายความปลอดภัยทั่วโลก