กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 65
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (The 77th session of the UN General Assembly (UNGA 77) มีกำหนดการเปิดการประชุมขึ้นในวันที่ 13 ก.ย. 65 ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก และมีกำหนดการจัดอภิปรายทั่วไป (General Debate) ในระหว่างวันที่ 20 – 26 ก.ย. 2565 โดยการประชุมและการจัดอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ช่วงเวลาของจุดเปลี่ยนผัน : แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงปฏิรูปเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เชื่อมโยงระหว่างกัน” (A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ประชาคมโลกกำลังร่วมเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 (COVID-19) สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน วิกฤตด้านพลังงานและเสบียงอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เป็นต้น นานาประเทศทั่วโลกจึงต้องประสานความร่วมมือกัน จึงจะทำให้โลกนี้มีการพัฒนาที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น
หลายปีมานี้ จีนได้จงใจเพิ่มการคุกคามเพื่อข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติในกฎบัตรของสหประชาชาติที่ห้ามมิให้ใช้กำลังอาวุธ แต่ให้แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยประชาคมโลกต่างจับตาต่อสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้แทนถาวรของประเทศพันธมิตรไต้หวันประจำสหประชาชาติ ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน อย่างหนักแน่น
รัฐบาลไต้หวันแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศชาติและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชน ด้วยสติและความยับยั้งชั่งใจ และจะไม่ก่อประเด็นพิพาทใดๆ แต่ขณะเดียวกัน เราจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดัน โดยจะเร่งผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างประเทศกับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ รัฐบาลไต้หวันยังคงใช้การผลักดันอย่างกระตือรือร้นและเป็นรูปธรรม เพื่อเข้ามีส่วนร่วมในสหประชาชาติ
โดยในปีนี้ รัฐบาลไต้หวันยังคงขอให้กลุ่มประเทศพันธมิตรไต้หวัน ร่วมเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนไต้หวันบนเวทีการอภิปรายทั่วไป อีกทั้งยังขอให้ประเทศพันธมิตรร่วมส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ตระหนักถึงปัญหาสภาพการณ์ที่ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของ UN ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรลุตามเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่ UN เร่งผลักดันเสมอมา และเพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ว่า “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” (Leave No One Behind) ด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก ประสานความร่วมมือกันในการเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายระดับโลก
จีนพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 พร้อมกดดันให้ UN ยอมรับคำกล่าวอ้างของจีน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ UN ซึ่งในกรณีนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอยืนยันว่า ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มิได้ระบุถึงการมอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของไต้หวันในการประชุม UNGA สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีนมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงขอเรียกร้องให้ UN เร่งแก้ไขแนวทางที่ปฏิเสธไม่ให้ตัวแทนหรือสื่อมวลชนของไต้หวันเข้าร่วมในกลไก การประชุมหรือกิจกรรมใดๆ ของ UN หรือกีดกันแม้กระทั่งการขอสัมภาษณ์ โดยให้การยอมรับไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของ UN อย่างเสมอภาคเท่าเทียมและสมเกียรติ เพื่อที่ไต้หวันจะสามารถร่วมอุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกต่อไป
เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกเกิดความเข้าใจต่อแผนผลักดันของไต้หวัน นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เผยแพร่บทความพิเศษลงบนสื่อแนวหน้าระดับนานาชาติ เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความท้าทายด้วยกำลังทหารของจีน พร้อมร่วมประณามพฤติกรรมที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบที่ต้องการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ เนื้อหาในบทความยังแสดงให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่ทั่วโลกสามารถไว้วางใจและไม่สามารถขาดได้ ในการรับมือกับความท้าทายที่ยุ่งยากซับซ้อนระดับโลก และควรให้การยอมรับไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
ในปีนี้ กต.ไต้หวันยังได้ออกแบบภาพทัศนศิลป์รูปแบบใหม่ เพื่อสื่อให้เห็นว่าไต้หวันต้องการเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายใน UN พร้อมประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพ โดยได้จัดทำวิดีทัศน์ภายใต้ชื่อ “มือแห่งความเอื้ออาทรของไต้หวัน” (Taiwan’s helping hand) เพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายและค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพของไต้หวัน รวมถึงคุณประโยชน์ที่ไต้หวันอุทิศให้ทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อผลสัมฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องของไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์แก่กลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลไต้หวันยังได้ผลักดันการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไต้หวันในนครนิวยอร์ก ในระหว่างการประชุม UNGA พร้อมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ “นวัตกรรม” ซึ่งครอบคลุมไปถึงการประกาศ “รายงานแห่งชาติครั้งที่ 2 ว่าด้วยการพิจารณาตรวจสอบภายใต้หลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตลอดจนร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไต้หวันแก่ประชาคมโลก นอกจากนี้ พรรครัฐบาลไต้หวันยังจะรวบรวมคณะตัวแทนเดินทางเยือนนครนิวยอร์ก ในขณะที่กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลก็ได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน เพื่อประกาศให้ประชาคมโลกร่วมรับทราบถึงเสียงเรียกร้องของประชาชนชาวไต้หวันที่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมใน UN
กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณต่อประเทศพันธมิตร มิตรประเทศและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการผลักดันการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงประชาคมโลกที่ให้การสนับสนุนค่านิยมด้านประชาธิปไตยของไต้หวัน และความมั่นคงในสองฝั่งช่องแคบอย่างหนักแน่น โดยพวกเราขอเรียกร้องให้ UN ประจักษ์เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันที่ร่วมทำหน้าที่เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในประชาคมโลก และยอมรับให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในเร็ววัน