15/11/2024

Taiwan Today

สังคม

สภาบริหารไต้หวัน มีมติผ่าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพและยกระดับการบริหารความปลอดภัยด้านการเคลื่อนย้ายของประชากร

13/01/2023
สภาบริหารไต้หวัน มีมติผ่าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพและยกระดับการบริหารความปลอดภัยด้านการเคลื่อนย้ายของประชากร (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 12 ม.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ประชุมสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ผ่านญัตติร่างแก้ไขบางมาตราใน “กฎหมายว่าด้วยการเข้า - ออกประเทศและการย้ายถิ่น” ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเสนอต่อสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาเป็นลำดับถัดไปแล้ว โดยในครั้งนี้มีการแก้ไขรวม 52 มาตรา อาทิ การผ่อนคลายมาตรการการพำนักอาศัยในไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรคุณภาพเดินทางมาพำนักและประกอบอาชีพในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความรุนแรงของบทลงโทษ ทั้งในส่วนของการเพิ่มค่าปรับและเพิ่มบทลงโทษให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้การบังคับใช้กฏหมายในการตรวจจับผู้อพยพเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมการพำนักอาศัยที่เป็นมิตร รวมถึงเป็นการดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้ามาประกอบอาชีพในไต้หวัน ตลอดจนเป็นการรักษาความมั่นคงของประเทศชาติควบคู่กันไปด้วย
 
กระทรวงมหาดไทย แถลงว่า เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างบุคลากรนานาชาติ เพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ พร้อมเสริมสร้างการบริหารความปลอดภัยด้านการเคลื่อนย้ายของประชากร หลังจากที่ได้ทำการหารือกับกลุ่มองค์กรเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้ทำการพิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเข้า - ออกประเทศและการย้ายถิ่น ซึ่งการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
1.เพิ่มหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เพื่อส่งเสริมสิทธิในการอยู่พร้อมหน้ากันของสมาชิกครอบครัว
เพื่อรักษาสิทธิการอาศัยอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวผู้ย้ายถิ่นด้วยการแต่งงานข้ามชาติ สตม.ไต้หวันจึงได้เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการยื่นขอสิทธิพำนักในไต้หวัน สำหรับคู่สมรสชาวต่างชาติที่เป็นหม้ายและคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้าง เพื่อเลี้ยงดูบุตรธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือเพื่อพบปะกัน
 
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงกฎระเบียบในปัจจุบัน กรณีที่ผู้หย่าร้างได้รับสิทธิการเลี้ยงดูบุตรธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงจะสามารถพำนักอยู่ในไต้หวันต่อไปได้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านสิทธิในการพำนักอาศัยของคู่สมรสที่ถูกกระทำทารุณกรรม ทางสตม.ไต้หวันจึงได้ผ่อนคลายมาตรการให้ผู้ที่หย่าร้างอันเนื่องมาจากการถูกทารุณกรรมในครอบครัว และยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสใหม่ ให้ยังคงได้รับสิทธิในการพำนักอยู่ในไต้หวันอย่างถูกกฎหมายต่อไป
2. ดึงดูดให้บุคลากรคุณภาพเดินทางมาเยือนไต้หวัน ด้วยการผ่อนคลายมาตรการการพำนักอาศัยในไต้หวัน
เพื่อดึงดูดบุคลากรต่างชาติเดินทางมาเยือนและประกอบอาชีพในไต้หวัน จึงได้มีการกำหนดเพิ่มให้กลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้ สามารถยื่นขอใบถิ่นที่อยู่ถาวร (APRC) ได้ โดยกลุ่มเป้าหมายข้างต้น ประกอบด้วย ผู้สร้างคุณประโยชน์พิเศษให้แก่ไต้หวัน บุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาอาชีพต่างๆ คู่สมรสของนักลงทุนชาวต่างชาติ บุตรธิดาที่ยังมีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และบุตรธิดาที่เป็นผู้ทุพพลลาภ
 
นอกจากนี้ เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการยื่นขอพำนักในไต้หวันของชาวต่างชาติ กรณีที่ปรึกษาในหน่วยงานด้านการวิจัยทางวิชาการ การบรรยายในสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรต่างชาติที่ถูกทาบทามโดยผู้ประกอบการชาวไต้หวัน และบุคลากรระดับไวท์คอลลาร์ หลังจากที่เดินทางเข้าสู่ไต้หวันด้วยมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราและวีซ่าพำนักชั่วคราวแล้ว ทางการได้ผ่อนปรนให้กลุ่มเป้าหมายข้างต้นนี้ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องเปลี่ยนวีซ่าต่อกระทรวงการต่างประเทศ แต่ให้สามารถยื่นขอบัตรถิ่นที่อยู่ (ARC) สำหรับชาวต่างชาติที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เลย ซึ่งคู่สมรสและบุตรธิดาก็สามารถยื่นขอได้ด้วยเช่นกัน
 
อีกทั้ง เพื่อให้บุคลากรต่างชาติมีเวลาเพียงพอในการหาที่พักและทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม ทางการจึงผ่อนปรนระยะเวลาในการยื่นขอบัตรถิ่นที่อยู่ของชาวต่างชาติ โดยขยายเวลาในการดำเนินการยื่นขอบัตรถิ่นที่อยู่ จากเดิมภายใน 15 วัน เป็น 30 วันหลังจากเดินทางเข้าไต้หวัน
 
นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดชาวจีนโพ้นทะเลให้กลับมาประกอบอาชีพในถิ่นกำเนิดของตน ทางสตม.ไต้หวัน ก็ได้ผ่อนคลายมาตรการให้ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แต่ไม่มีทะเบียนสํามะโนครัวในไต้หวัน ยกเลิกการยื่อขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (Entry Permit ) และสามารถพำนักในไต้หวันอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่ให้ระยะเวลา 7 ปีขึ้นไป และกำหนดให้ผู้ที่พำนักในไต้หวันมากกว่า 183 วันขึ้นไปสามารถยื่นขอสิทธิในการพำนักชั่วคราวต่อไปได้ และยกเลิกข้อจำกัดด้านอายุของบุตรธิดาชาวไต้หวันที่เกิดในต่างแดน แต่ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการกลับมาตั้งถิ่นฐานในไต้หวัน
 
3.เสริมสร้างการบริหารความปลอดภัยด้านการเคลื่อนย้ายของประชากร เพิ่มค่าปรับและกำหนดบทลงโทษให้หลากหลายยิ่งขึ้น
เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติพำนักอาศัยในไต้หวันเกินกำหนด สตม.ไต้หวันจึงได้เพิ่มค่าปรับกรณีพำนักเกินกำหนด จากเดิม 2,000 – 10,000 เหรียญไต้หวัน เป็น 30,000 – 150,000 เหรียญไต้หวัน พร้อมทั้งเพิ่มระยะเวลาในการติดแบล็กลิสต์จาก 3 ปี เป็น 10 ปี
 
นอกจากนี้ เพื่อสกัดกั้นการกระทำความผิดของชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยในไต้หวัน สตม.ไต้หวันจึงได้เพิ่มบทลงโทษ ผู้ที่ให้ที่หลบซ่อนหรือที่พักพิงแก่ชาวต่างชาติที่พำนักเกินกำหนด ต้องระวางโทษปรับ 60,000  – 300,000 เหรียญไต้หวัน เป็นคนกลางช่วยเหลือชาวต่างชาติให้ประกอบกิจการใดๆที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลการขอพำนัก ต้องระวางโทษปรับ 200,000 – 1,000,000 เหรียญไต้หวัน นอกจากนี้ เพื่อเสริมสร้างการบริหารความปลอดภัยพรมแดน จึงได้มีการกำหนดโทษทางอาญาเพิ่มเติม หากพบว่ามีชาวต่างชาติหรือประชาชนชาวไต้หวันที่ไม่มีทะเบียนสำมะโนครัวในไต้หวันลักลอบเข้าประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 เหรียญไต้หวัน สำหรับผู้ที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ หากพบว่า มีการใช้หนังสือเดินทางปลอม ปลอมแปลงหนังสือเดินทางหรือใช้หนังสือเดินทางผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 90,000 เหรียญไต้หวัน
 
 กระทรวงมหาดไทยแถลงว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ครอบคลุมเป็นวงกว้าง โดยทางกระทรวงจะหารือกับพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในสภานิติบัญญัติเป็นลำดับต่อไป เพื่อผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด