20/05/2024

Taiwan Today

สังคม

เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2023 ภารกิจการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

02/02/2023
เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2023 ภารกิจการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ (ภาพจาก CNA)
สภาบริหาร วันที่ 1 ก.พ. 66
 
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2023”(2023 Gender at a Glance in R.O.C. (Taiwan)) ซึ่งข้อมูลในรายงานส่วนหนึ่งได้อ้างอิงตามดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ปี 2021  ซึ่งไต้หวันยังคงรักษาอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ยอดเยี่ยมของภารกิจการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ นอกจากนี้ผู้ว่าการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นผู้นำในระดับท้องถิ่นหญิงที่ได้รับการเลือกตั้งประจำปี 2022 ก็มีอัตราส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 นับว่าเป็นสถิติใหม่ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็มีอัตราส่วนของผู้หญิงกว่าร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนจากในปี 2021 เกือบร้อยละ 10 แสดงให้เห็นว่าความเสมอภาคทางเพศในไต้หวันบรรลุผลมากขึ้นเป็นลำดับ
 
ในด้านอำนาจ การกำหนดนโยบายและความทรงอิทธิพล สนง.ความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า สัดส่วนการเข้ามีส่วนร่วมในภารกิจทางการเมืองของผู้หญิงในหน่วยงานภาครัฐ ก็มีอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับ อันจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าการเมืองต่างๆ ในปี 2022 และตัวแทนประชาชน มีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงมากขึ้น ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ที่เคยมีมา
 
ในด้านการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม สนง.ความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีอายุมากกกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.5 โดยมีค่าตอบแทนต่อเดือนเฉลี่ย 40,030 เหรียญไต้หวัน โดยเฉพาะในระหว่างสถานการณ์โรคโควิด – 19 อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงในประเทศรายรอบต่างพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่สู้ดีนัก แต่ในไต้หวันกลับยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเพศสถานะลดความเหลื่อมล้ำลง มีเพียงสัดส่วนของผู้ทุพพลลาภหญิงเท่านั้นที่ยังคงมีอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 14.7
 
ส่วนในด้านการศึกษา สื่อ วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงพลังงานและเทคโนโลยี สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ชี้ว่า หลายปีมานี้ไต้หวันได้บ่มเพาะบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงอย่างกระตือรือร้น โดยในปี 2019 บัณฑิตหญิงที่สำเร็จการศึกษาจาก “คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คณิตศาสตร์และสถิติ” และ “คณะวิศวกรรมศาสตร์ การผลิตและก่อสร้าง” ครองสัดส่วนร้อยละ 43.1 และ 18.9 ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากในปี 2018 ร้อยละ 0.8 และ 0.5 ตามลำดับ ส่วนเจ้าหน้าที่วิจัยที่เป็นผู้หญิงในปี 2020 ครองสัดส่วนร้อยละ 22.9 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วร้อยละ 1.4
 
ส่วนในด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่า ในปี 2021 ได้รับแจ้งคดีล่วงละเมิดทางเพศจำนวนกว่า 7,787 ราย ซึ่งลดลง 1,425 รายจากในปี 2020 มีเพียงการทำอนาจารใน “สภาพแวดล้อมจำลองเสมือนจริง อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี” ผ่านช่องทางดิจิทัลและช่องทางบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ที่ยังคงครองสัดส่วนร้อยละ 2.3  ส่วนคดีล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนมีจำนวน 1,395 ราย ที่อาศัยช่องทางออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดทางกฎหมาย ซึ่งเพิ่มสูงจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศแถลงว่า เพื่อให้บรรลุการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเพศสถานะในมิติต่างๆ โดยเร็ว ทางสภาบริหารไต้หวันจึงได้เร่งผลักดันประเด็นสำคัญด้านความเสมอภาคทางเพศและแผนปฏิบัติการผลักดันความเสมอภาคทางเพศของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงระหว่างปี 2022 – 2025 ทั้งนี้ เพื่อสรรค์สร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและมีความเป็นมิตรต่อทุกเพศสถานะต่อไป

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด