20/05/2024

Taiwan Today

เศรษฐกิจ

ไต้หวันครองอันดับ 2 ในรายงานสถาบันทางสังคมและดัชนีทางเพศ (SIGI) ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

24/03/2023
ไต้หวันครองอันดับ 2 ในรายงานสถาบันทางสังคมและดัชนีทางเพศ (SIGI) ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) (ภาพจาก OECD)
สภาบริหาร วันที่ 21 มี.ค. 66
 
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า จากรายงานสถาบันทางสังคมและดัชนีทางเพศ (Social Institutions and Gender Index, SIGI) ปี 2023 ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ไต้หวันถูกจัดให้เข้ารับการประเมินเป็นครั้งแรก โดยมีกลุ่มประเทศที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 140 ประเทศ ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยด้านการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศสภาพในสถาบันครอบครัว ข้อจำกัดด้านความสมบูรณ์ของร่างกาย ข้อจำกัดด้านทรัพยากรการผลิตและการเงิน และข้อจำกัดทางเสรีภาพของพลเมือง โดยมีตัวชี้วัดหลัก 16 รายการ และตัวชี้วัดย่อยอีก 173 รายการ เพื่อนำมาใช้อ้างอิงในการพิจารณาระบบกฎหมาย กฎระเบียบทางสังคมและแนวทางการปฏิบัติของกลุ่มประเทศที่เข้ารับการประเมิน (คะแนนยิ่งต่ำยิ่งดี) โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ไต้หวันได้เข้ารับการประเมินโดย OECD และได้รับผลคะแนนรวม 9.5 คะแนน เป็นรองเพียงเบลเยี่ยมที่ได้รับ 8 คะแนน ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของโลก เทียบเท่ากับอิตาลี สเปนและสวีเดน
 
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่า SIGI พิจารณาจากระบบสังคมที่เลือกปฏิบัติในด้านที่มีผลกระทบสำคัญต่อวิถีชีวิตของสตรีและเด็กผู้หญิง โดยศูนย์พัฒนาของ OECD เป็นผู้จัดทำตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยขอบเขตคะแนนกำหนดไว้ตั้งแต่ 0 – 100 ซึ่ง 0 หมายถึงไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วน 100 คือมีการเลือกปฏิบัติในระดับสูงสุด เพื่อบันทึกสภาพการณ์การของความคงอยู่และความแพร่หลายในการเลือกปฏิบัติทางเพศ ของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาในลำดับขั้นที่แตกต่างกัน รวมถึงใช้อ้างอิงเชิงข้อมูลสถิติมาตรฐานสูงให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย องค์การระหว่างประเทศและองค์การการกุศล รวมไปถึงภาคประชาชน
 
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่ไต้หวันเข้ารับการประเมินในผลสำรวจที่ประกาศโดย OECD โดยไต้หวันมีผลคะแนนที่ยอดเยี่ยมในด้านกฎระเบียบทางกฎหมาย กฎระเบียบทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการเลือกปฏิบัติในสถาบันครอบครัว โดยในหัวข้อนี้มีดัชนี้ชี้วัดที่ประกอบด้วย การแต่งงานในวัยเด็ก ความรับผิดชอบในครัวเรือน การหย่าร้างและสิทธิในการสืบทอดมรดก ซึ่งไต้หวันได้ 0 คะแนน หรือหมายความว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนอันดับรองลงมาคือข้อจำกัดด้านทรัพยากรการผลิตและการเงิน มีดัชนีชี้วัดที่ประกอบด้วย การครอบครองอสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การให้บริการทางการเงิน สิทธิในการทำงาน ไต้หวันได้รับ 6 คะแนน ส่วนอันดับ 3 คือในด้านข้อจำกัดทางเสรีภาพพลเมือง มีดัชนี้ชี้วัดที่ประกอบด้วย สิทธิพลเมือง การเสนอความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไต้หวันได้รับ 8 คะแนน โดยใน 3 ปัจจัยข้างต้น ไต้หวันมีอันดับที่ดีกว่าทั่วโลก กลุ่มประเทศสมาชิกของ OECD และอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่วนข้อจำกัดความสมบูรณ์ของร่างกาย ที่มีดัชนีชี้วัดประกอบด้วย การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มสตรี การขริบอวัยวะเพศหญิงและสิทธิในการมีบุตร ไต้หวันได้รับ 22 คะแนน ซึ่งหากอ้างอิงจากรายงานข้อมูลสถิติ ปี 2023 ระบุว่า คะแนนเฉลี่ยของไต้หวันอยู่ที่ 9.5 คะแนน ซึ่งมีผลคะแนนที่ดีกว่าอัตราค่าเฉลี่ยทั่วโลก 30 คะแนน โดยอัตราค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 16 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 38 คะแนน
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ย้ำว่า การที่ไต้หวันสามารถสร้างผลงานที่เยี่ยมยอดด้วยการถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 จาก 179 ประเทศทั่วโลก เป็นรองเพียงเบลเยี่ยม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่หน่วยงานต่างๆ  และภาคเอกชน ร่วมผลักดันภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศอย่างเต็มที่ พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะมีบทบาทที่สำคัญในแง่มุมต่างๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นต้นแบบที่ดีของประชาคมโลก

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด