20/05/2024

Taiwan Today

เศรษฐกิจ

“การสัมมนาด้านความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเรือสำราญในเขตเศรษฐกิจเอเปค” บังเกิดผลสัมฤทธิ์เด่นชัด ถือเป็นการกระตุ้นการพัฒนาความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคของเขตเศรษฐกิจเอเปค

28/07/2023
“การสัมมนาด้านความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเรือสำราญในเขตเศรษฐกิจเอเปค” บังเกิดผลสัมฤทธิ์เด่นชัด ถือเป็นการกระตุ้นการพัฒนาความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคของเขตเศรษฐกิจเอเปค (ภาพจากกระทรวงคมนาคม)
กระทรวงคมนาคม วันที่ 25 ก.ค. 66

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. กรมเจ้าท่า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การสัมมนาความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเรือสำราญในเขตเศรษฐกิจเอเปค” ณ โรงแรม Sheraton Grand Taipei โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเรือสำราญในเขตเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการสร้างความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากเขตเศรษฐกิจเอเปค รวม 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์และเม็กซิโก รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการของไต้หวัน รวม 106 คน เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้
 
นายเยี่ยเสียหลง อธิบดีกรมเจ้าท่าไต้หวัน กล่าวขณะปราศรัยว่า หลายปีมานี้ เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด ส่งผลให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างภาคประชาชนและการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประสบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ ซึ่งอุตสาหกรรมเรือสำราญก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคระบาดกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ทางไทเปได้ทำการผลักดันโปรแกรมเที่ยวรอบเกาะไต้หวันด้วยเรือสำราญ Explorer Dream ภายใต้มาตรการการป้องกันโรคระบาดที่ครอบคลุมและการบริหารความยืดหยุ่นในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นที่ 2 ของโลก ที่มีการฟื้นฟูการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ โดยเรือสำราญภายใต้โครงการข้างต้น เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั้งหมด 95 รอบ มียอดผู้โดยสารสะสมรวมกว่า 97,000 คน ซึ่งคาดว่าในช่วงระยะเวลาการให้บริการในไต้หวัน สามารถสร้างมูลค่าในระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ แนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมเรือสำราญ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรมีการอภิปรายร่วมกัน เพราะมีเพียงการสร้างหลักประกันทางความยืดหยุ่นเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมไว้ได้
 
Mr. Mohamad Halim Bin Ahmed ประธานคณะทำงานด้านการขนส่งทางเรือ (MEG) กล่าวว่า แม้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นอุปสรรคและความท้าทายของอุตสาหกรรมเรือสำราญ แต่ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งโอกาสในการปรับโครงสร้างและสร้างข้อได้เปรียบให้แก่อุตสาหกรรมเรือสำราญเช่นเดียวกัน สำหรับประเด็นแนวทางการมุ่งสู่ความยืดหยุ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประธาน MEG ได้เสนอข้อชี้แนะ 2 ประการ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานและทิศทางที่ครอบคลุม เพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยให้แก่ลูกเรือและผู้โดยสาร  ควบคู่ไปกับการกระตุ้นประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบข้ามเขตพื้นที่ โดยในการส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรม ก็ยังต้องคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
 
การประชุมในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 รอบ โดยในรอบแรกได้เปิดอภิปรายในหัวข้อแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมเรือสำราญระหว่างประเทศ ในมุมมองเชิงมหภาค เพื่อชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมเรือสำราญ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบรรเทาภัยพิบัติและความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น ส่วนรอบที่ 2 มุ่งเน้นไปที่การพัฒนานโยบายเรือสำราญในพื้นที่เอเชีย – แปซิฟิด ภายใต้มุมมองของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งชี้แจงถึงสถานการณ์ล่าสุดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญ รวมไปถึงความท้าทายและความมุ่งหวังในอนาคต ส่วนรอบสุดท้าย เป็นการเปิดประเด็นแนวโน้มอุตสาหกรรมเรือสำราญและการเสนอความคิดเห็นด้านการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรือสำราญ ในมุมมองของหน่วยงานภาคเอกชน โดยมีอธิบดีเยี่ยฯ ทำหน้าที่เป็นประธานสรุปการประชุมในครั้งนี้ พร้อมทั้งร่วมเปิดเสวนาพูดคุยกับตัวแทนเจ้าหน้าที่เขตเศรษฐกิจ เช่น แคนาดา ฟิลิปปินส์ เวียดนามและเกาหลีใต้ ในประเด็นแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่ ภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า การส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ณ จุดเทียบท่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเรือสำราญให้เกิดความสนใจเข้าเยี่ยมชม และแนวทางการยกระดับความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมเรือสำราญ เป็นต้น
 
กรมเจ้าท่า ชี้ว่า การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ มีบทบาทที่สำคัญในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ หลังยุคโควิด – 19 โดยหวังว่า จากการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนในการประชุมระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกและระดับโลก เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนหวังที่จะเห็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก สร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในภายหน้า เพื่อร่วมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากการท่องเที่ยวเรือสำราญในระดับนานาชาติต่อไป
 

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด