20/05/2024

Taiwan Today

สังคม

ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ของไต้หวันในปี 2021 อยู่อันดับ 7 ของโลก

17/08/2023
ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ของไต้หวันในปี 2021 อยู่อันดับ 7 ของโลก (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 15 ส.ค. 66
 
1. ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ของไต้หวันในปี 2021 อยู่ในอันดับ 7 ของโลก โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme, UNDP) ได้ทำการพิจารณาสถานการณ์ความเสมอภาคทางเพศของนานาประเทศ โดยอ้างอิง 5 ดัชนีย่อยในเกณฑ์การประเมิน 3 ด้าน ประกอบด้วย สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การเสริมสร้างศักยภาพและตลาดแรงงาน ผลปรากฎว่า ในปี 2021 เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 1 ด้วยคะแนน 0.013 (ตัวเลขยิ่งใกล้เคียง 0 มากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเข้าใกล้กับความเสมอภาคทางเพศมากขึ้นเท่านั้น) ส่วนนอร์เวย์อยู่ในอันดับ 2 ด้วยคะแนน 0.016 สวิตเซอร์แลนด์อยู่ในอันดับ 3 ด้วยคะแนน 0.018 ส่วนไต้หวัน หลังจากที่ได้รับการประเมินด้วยค่านิยามสากลและคิดคำนวณแล้ว มีคะแนน GII อยู่ที่  0.036 ซึ่งมีคะแนนในระดับที่ดีขึ้นว่าในปี 2019 ที่ 0.045 และถูกจัดให้อยู่อันดับ 7 ในจำนวน 171 ประเทศที่ถูกประเมิน อีกทั้งยังถือเป็นอันดับที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยสามารถแซงหน้าสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 8 ด้วยคะแนน 0.040 เกาหลีใต้ที่อยู่ในอันดับ 16 ด้วยคะแนน 0.067 รวมถึงญี่ปุ่นที่อยู่ในอันดับ 23 ด้วยคะแนน 0.083
 
2. ในปี 2021 สัดส่วนเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงของไต้หวัน สูงกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37 ตามรายงานสมุดปกขาวผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จัดทำโดยกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ระบุว่า เจ้าของธุรกิจในไต้หวันที่เป็นผู้หญิง ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 37 ซึ่งสูงกว่าเกาหลีใต้ร้อยละ 36.8 ในจำนวนนี้ สัดส่วนเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่เป็นผู้หญิง ครองสัดส่วนร้อยละ 37.2 ซึ่งสูงกว่าในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.4 และเป็นสัดส่วนที่แซงหน้าญี่ปุ่นที่ร้อยละ 17.4 หากเทียบกับปีที่แล้ว ในปี 2021 เจ้าของธุรกิจในภาพรวมที่เป็นผู้หญิง มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งสูงกว่าเกาหลีใต้ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 0.1 นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจ SMEs ของไต้หวันที่เป็นผู้หญิง ก็เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.2 ด้วย ส่วนญี่ปุ่นกลับลดลงร้อยละ 0.9 
 
3. โครงสร้างประชากรชาย - หญิง ในกลุ่มประเทศหลักในเอเชีย มีการยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ศักยภาพของผู้หญิงในไต้หวันได้รับการยกระดับเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้เจตจำนงในการเข้าสู่สายงานอาชีพของผู้หญิง มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2022 สัดส่วนเจ้าหน้าที่พนักงานที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 44.7 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเจ้าหน้าที่ชายร้อยละ 10.6 และหากเปรียบเทียบกับปี 2013 ถือว่ามีสัดส่วนของผู้หญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 โดยที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย - หญิง ลดลงร้อยละ 1  หากมองไปที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเจ้าหน้าที่พนักงานที่เป็นผู้หญิงในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแล้ว ในจำนวนนี้ สิงคโปร์และญี่ปุ่น ต่างมีการยกระดับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ส่วนเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ด้านฮ่องกง หากเทียบระหว่างปี 2021 และปี 2013 แล้ว จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3
 
4. สำหรับพนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของแต่ละประเทศ โดยส่วนมากจะเป็นผู้ชาย โดยที่ผู้หญิงมักจะเข้าทำงานในภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเป็นส่วนใหญ่ โดยหากทำการวิเคราะห์ตลาดแรงงานของไต้หวันจะพบว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะมีจำนวนแรงงานคิดสัดส่วนร้อยละ 26 ส่วนภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกจะมีส่วนร้อยละ 16 ถือเป็นประเภทที่มีจำนวนแรงงานมากที่สุด โดยส่วนอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศอื่นๆ ต่างก็มีสัดส่วนพนักงานหญิงไม่ถึงร้อยละ 40 โดยในปี 2022 พนักงานอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นผู้หญิง ในเกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ครองสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 30 ส่วนไต้หวันครองสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 38.3 สิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 37 แต่หากเป็นภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก สัดส่วนพนักงานผู้หญิงในไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ ต่างก็มีสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย ซึ่งฮ่องกงเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดที่สุด เพราะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด