20/05/2024

Taiwan Today

สังคม

สภาบริหารไต้หวันจัด “กิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรหญิงในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปี 2023 ภายใต้หัวข้อการแลกเปลี่ยนพลังสตรีเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจการสาธารณะ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะศักยภาพการเข้าร่วมกำหนดนโยบายของกลุ่มสตรี

05/10/2023
สภาบริหารไต้หวันจัด “กิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรหญิงในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปี 2023 ภายใต้หัวข้อการแลกเปลี่ยนพลังสตรีเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจการสาธารณะ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะศักยภาพการเข้าร่วมกำหนดนโยบายของกลุ่มสตรี (ภาพจากสภาบริหาร)
สภาบริหาร วันที่ 3 ต.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดกิจกรรม “การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรหญิงในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปี 2023 ภายใต้หัวข้อการแลกเปลี่ยนพลังสตรีเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจการสาธารณะ” โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่หญิงระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 30 คน เข้าร่วม เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะให้บุคลากรหญิงที่มีความเชี่ยวชาญในทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมกิจการสาธารณะ และเป็นขยายช่องทางการให้กลุ่มสตรีมีสิทธิเข้าร่วมกำหนดนโยบายในหน่วยงานบริหาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดรับมุมมองและประสบการณ์ชีวิตจากบุคคลหลากหลายเพศสภาพ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ
 
นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารทำหน้าที่เป็นประธานเปิดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยรมว.หลัวฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไต้หวันต่างมุ่งมั่นผลักดันภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศอย่างกระตือรือร้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน ได้รับการพัฒนาที่รุดหน้าอย่างยั่งยืน สำหรับการเข้าร่วมกิจการสาธารณะของกลุ่มสตรีในหน่วยงานภาครัฐ สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นผู้หญิงมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ผู้ว่าการเมืองต่างๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 50 ส่วนข้าราชการระดับอาวุโสในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้หญิง ก็มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในหน่วยงานภาคเอกชน กรรมการบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นเพศหญิง ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก ประกอบกับการเข้าร่วมกำหนดนโยบายในชมรม สมาคมวิชาชีพและสหกรณ์การเกษตรและการประมงที่เป็นผู้หญิง ก็ยังมีสัดส่วนที่รอการยกระดับ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าร่วมการกำหนดนโยบายในหน่วยงานเอกชน มีความไม่สมดุลอยู่มาก รมว.หลัวฯ กล่าวว่า เนื่องจากในอดีตได้รับผลกระทบจากกรอบความคิดแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมและสังคม ส่งผลให้การเข้าร่วมกำหนดนโยบายของผู้หญิงต้องประสบกับอุปสรรค รมว.หลัวฯ จึงคาดหวังที่จะเพิ่มพูนศักยภาพที่เพียงพอเพื่อทำลายกรอบความคิดที่แข็งกระด้าง ด้วยการส่งเสริมให้โครงสร้างสิทธิในการกำหนดนโยบาย มีความสมดุลเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เพศสภาพที่ต่างกัน เคารพซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้สังคมไต้หวันร่วมผลักดันความยืดหยุ่นด้านสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศ อาทิ กฎหมายการสมรสของเพศเดียวกัน การสมรสข้ามชาติของเพศเดียวกัน และการรับบุตรบุญธรรมของกลุ่ม LGBTQ อย่างถูกกฎหมาย
 
สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร แถลงว่า “แผนนโยบายความเสมอภาคทางเพศ” ของไต้หวันระบุไว้ว่า การขยายขอบเขตการเข้าร่วมกิจการสาธารณะระดับประเทศของบุคคลที่มีเพศสภาพต่างกัน มีส่วนช่วยในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าร่วมการกำหนดนโยบาย โดย “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” (CEDAW) ได้กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกประยุกต์ใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อสร้างหลักประกันให้กลุ่มสตรีมีสถานภาพที่เทียบเท่ากับบุรุษในด้านการเข้าร่วมทางการเมืองและวิถีชีวิตทั่วไป พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความเสมอภาคทางโอกาสและความสำคัญในการเข้าร่วมกำหนดนโยบายและการวางรากฐานวิถีชีวิตทั่วไปของกลุ่มสตรี
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ระบุเพิ่มเติมว่า กิจกรรมข้างต้นมีกำหนดการจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 5 ต.ค. และ 25 – 26 ต.ค.นี้ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในหน่วยงานเอกชนในด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและเทคโนโลยี รวมไปถึงรองศาสตราจารย์ในสถาบันระดับอุดมศึกษาและเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นระดับอาวุโส

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด