คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 30 ต.ค. 67
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTC) และสภาวิจัยแห่งชาติ (Academic Sinica) ได้ร่วมลงนามความตกลงทางความร่วมมือเชิงวิชาการกับสมาคมชีววิทยาโมเลกุลแห่งยุโรป (The European Molecular Biology Conference, EMBC) และสถาบันชีววิทยาโมเลกุลแห่งยุโรป (The European Molecular Biology Organization, EMBO) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนให้แก่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไต้หวัน และด้วยความสนับสนุนของ Dr. Fiona Watt ประธาน EMBO ทำให้ในปีนี้ (2567) ทาง EMBC จึงมีมติให้ยกระดับไต้หวันขึ้นเป็น “สมาชิกสมทบ” (Associate Member) จากเดิมที่เป็นเพียง “หุ้นส่วนด้านความร่วมมือ” (Co-operation Partner) ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ไต้หวัน – ยุโรป
โดยการยกระดับสถานภาพของไต้หวันในครั้งนี้ เกิดจากการยื่นเสนอโดยคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTC) และสภาวิจัยแห่งชาติ (Academic Sinica) ซึ่งได้รับการลงมติเห็นชอบจากกลุ่มประเทศสมาชิก EMBC เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ในฐานะที่เป็น “สมาชิกสมทบ” ไต้หวันจึงมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐบาล ของกลุ่ม EMBC ในฐานะผู้สังเกตการณ์เป็นครั้งแรก และนักวิทยาศาสตร์ไต้หวันจะสามารถสมัครขอรับทุนและเงินสนับสนุนต่าง ๆ จาก EMBO ซึ่งจะช่วยเพิ่มบทบาทของไต้หวันในวงการวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ
EMBO มีกำหนดการจัด “การประชุมสมัชชาของกลุ่มประเทศสมาชิกประจำปี ในวาระครบรอบ 60 ปี” ขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) ของเยอรมนี ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยได้เชิญนายเลี่ยวจวิ้นจื้อ ผู้อำนวยการสภาวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมแสดงปาฐกถาเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “การออกแบบกลไกการเผาผลาญ เพื่อเพิ่มอัตราการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์” (Design of new metabolism for increasing carbon fixation) เพื่อเปิดตัวผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยใหม่ว่าด้วยการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมการประชุม โดยในครั้งนี้ ผอ.เลี่ยวฯ ยังได้ร่วมลงนามใน “ความตกลงว่าด้วยการเป็นสมาชิกสมทบ” กับเจ้าหน้าที่หน่วยงาน EMBC และ EMBO อันเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการประสานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป
ผอ.เลี่ยวฯ กล่าวว่า ในอนาคต ไต้หวันจะมอบหมายให้ตัวแทนเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ EMBO / EMBC พร้อมทั้งร่วมวางแผนกิจกรรมเชิงวิชาการข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิผลที่เกิดกจากการประสานความร่วมมือ ตลอดจนทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจจากนานาชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของนักวิจัยในภูมิภาคเอเชีย – ยุโรป โดยในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ผอ.เลี่ยวฯ ยังได้ร่วมอภิปรายในประเด็น “แนวโน้มการพัฒนาอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ” ร่วมกับเหล่านักวิชาการในระหว่างการประชุมย่อย EMBO Forum เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักวิชาการรุ่นใหม่ด้วย
Dr.Fiona M. Watt ซึ่งร่วมลงนามในข้อตกลงนี้กล่าวว่า ไต้หวันมีนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นกว่า 10 กว่าคนที่ได้รับเลือกให้เป็น “นักวิชาการวิจัยระดับโลกของ EMBO” และ “นักวิชาการวิจัยรุ่นใหม่ของ EMBO” ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้นักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากยุโรปและไต้หวันมีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น