05/05/2024

Taiwan Today

การเมือง

ไต้หวัน – EU ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประจำปี ครั้งที่ 5

06/10/2022
ไต้หวัน – EU ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประจำปี ครั้งที่ 5 (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 ต.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประจำปี ครั้งที่ 5 ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยนายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของไต้หวันกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม โดยมี Mr. Eamon Gilmore ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนประจำ EU ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่าย EU ในการกล่าวปราศรัย หลังจากนั้น ก็เป็นลำดับขั้นตอนการทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมร่วมกันระหว่าง รมว.หลัวฯ Ms. Luisa Ragher ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service, EEAS) และ Mr. Dominic Porter ผู้อำนวยการฝ่ายติดต่อประสานกิจการที่เกี่ยวข้องกับจีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวันและมองโกเลีย โดยไต้หวัน – EU ต่างร่วมพิจารณาทบทวนสถานการณ์ล่าสุด นโยบาย และความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ได้มุ่งมั่นดำเนินการตลอดช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งยืนยันคำมั่นว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมอย่างหนักแน่น
 
ในการประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้ชี้แจงรายงานความคืบหน้าที่เกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” “แผนปฏิบัติการด้านการประมงและสิทธิมนุษยชน” และการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รวมถึงสถานการณ์การบริหารงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย EU รู้สึกยินดีที่เห็นไต้หวันบังคับใช้มาตรการที่สำคัญเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ปี 2020 - 2024” ที่ EU บังคับใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ EU ยังได้เน้นย้ำจุดยืนคัดค้านโทษประหารชีวิตที่มีมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน โดยเรียกร้องให้ไต้หวันเร่งมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยเร็ววัน
 
นอกจากนี้ ไต้หวัน – EU ยังได้ร่วมอภิปรายหารือกันเชิงลึกในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ สิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่ม LGBTI ที่ประกอบด้วย หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) คนข้ามเพศ (Transgender) และเพศกำกวม (Intersex) รวมไปถึงภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนในด้านดิจิทัล โดยในส่วนของความเสมอภาคทางเพศและสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่ม LGBTI ไต้หวัน – EU ได้ร่วมพิจารณาความคืบหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความท้าทายที่ต้องรับมือและจัดการ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนของเด็กหญิง สตรีและกลุ่ม LGBTI นอกจากนี้ EU ยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับความคืบหน้าของสถานการณ์ล่าสุดด้านการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการใช้ความรุนแรงทำร้ายสตรีและการใช้ความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ให้การยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ทางการแลกเปลี่ยน ภายใต้ “กรอบความร่วมมือและการฝึกอบรมด้านความเสมอภาคทางเพศ ระหว่างไต้หวัน - EU ในปี 2019 – 2023” (2019-2023 EU-Taiwan Gender Equality Cooperation and Training Framework) โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
EU - ไต้หวัน ก็ยังได้ร่วมอภิปรายถึงความคืบหน้าในด้านภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยไต้หวันได้ชี้แจงในประเด็นความคืบหน้าการบังคับใช้ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ” ส่วน EU ก็ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าของการเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายว่าด้วย “ภารกิจการสำรวจความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในภาคธุรกิจ” (Corporate Sustainability Due Diligence) และร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามมิให้มีการซื้อขายสินค้าที่ได้จากการบังคับใช้แรงงาน (Forced Labor Products Ban)
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าด้วยการบัญญัติกฎหมายและการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการส่งเสริมและหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ที่สืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมดิจิทัล โดย EU ยังได้ชี้แจงถึง “ร่างกฎหมายว่าด้วยโปรแกรมการให้บริการทางดิจิทัล” (Digital Service Package) ที่เพิ่งผ่านการลงมติเมื่อช่วงที่ผ่านมา

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด