04/05/2024

Taiwan Today

การเมือง

นรม.ซูฯ ย้ำ ทุกส่วนต้องดำเนินการตามมาตรการบริหารควบคุมการนำเข้าเนื้อสุกรในทุกด้าน เพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ

27/11/2020
เนื้อหมูที่มีสารแรคโตพามีน (Ractopamine) ของสหรัฐอเมริกา เตรียมนำเข้ามาจำหน่ายในไต้หวันตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา สภาบริหารได้เสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารควบคุมเนื้อสุกรนำเข้ารวม 5 ประการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดความกังวลของภาคประชาชนที่มีต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ตลอดจนสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศต่อไป (ภาพจาก CNA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ต่อกรณีการนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารแรคโตพามีนของสหรัฐอเมริกา สภาบริหารไต้หวันได้เสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารควบคุมเนื้อสุกรนำเข้ารวม 5 ประการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดความกังวลของภาคประชาชนที่มีต่อความปลอดภัยด้านอาหาร

♦ สภาบริหารของไต้หวันอนุมัติงบประมาณจำนวนรวม 260 ล้านเหรียญไต้หวันให้รัฐบาลท้องถิ่นใช้ในการตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ เมื่อรวมกับงบประมาณสำหรับการตรวจสอบสินค้าก่อนนำเข้าสู่ประเทศ คิดเป็นงบประมาณรวม 320 ล้านเหรียญไต้หวัน

♦ กระทรวงสาธารณสุขฯ จะจัดทำตราเครื่องหมายเป็น 2 รูปแบบหลัก ทรงกลมหมายถึงเนื้อสุกรที่ผลิตในไต้หวัน และทรงสามเหลี่ยมหมายถึงเนื้อสุกรนำเข้า ซึ่งจะระบุชื่อประเทศที่นำเข้าไว้อย่างชัดเจน โดยจะให้ผู้ค้าส่งนำตราเครื่องหมายไปใช้งานต่อไป
-------------------------------------------
สภาบริหาร วันที่ 26 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับฟังรายงาน “มาตรการบริหารควบคุมการนำเข้าเนื้อสุกรในทุกด้าน” จากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ในที่ประชุมสภาบริหารไต้หวัน พร้อมกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของภาคประชาชน โดยได้เสนอแนวทางปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่ 1. เดินทางไปตรวจสอบโรงงานผลิตที่สหรัฐอเมริกา 2. เพิ่มพิกัดศุลกากรของสินค้า 3. ตรวจสอบสินค้านำเข้าทุกล็อตอย่างละเอียด 4. ติดฉลากกำกับอย่างชัดเจน 5. ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด พร้อมนี้ ยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวนรวม 260 ล้านเหรียญไต้หวันให้รัฐบาลท้องถิ่นใช้ในการตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ เมื่อรวมกับงบประมาณสำหรับการตรวจสอบสินค้าก่อนนำเข้าสู่ประเทศ คิดเป็นงบประมาณรวม 320 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยจะมีการบริหารควบคุมการนำเข้าเนื้อสุกรตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงแหล่งจำหน่าย และตั้งแต่ด่านศุลกากรไปจนถึงครัวเรือน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทั้งประเทศ

 

นรม.ซูฯ ชี้ว่า สำหรับโรงงานผลิตเนื้อสุกรที่ไม่เคยส่งออกสินค้ามายังไต้หวันนั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบโรงงานจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลไต้หวันก่อน จึงจะสามารถส่งออกสินค้ามายังไต้หวันได้ นอกจากนี้ ในการควบคุมเนื้อสุกรนำเข้าจะใช้มาตรฐานเดียวกับการนำเข้าเนื้อวัว ซึ่งจะพิกัดศุลกากรสำหรับการนำเข้าอวัยวะแต่ละชิ้นส่วนของสุกร โดยในปัจจุบันพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเนื้อวัวมีทั้งหมด 51 รายการ ส่วนเนื้อสุกรมีทั้งหมด 22 รายการ ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็น 67 รายการ และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปี 2021 เป็นต้นไป เนื้อสุกรนำเข้าจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกล็อต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป็นเนื้อสุกรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

นรม.ซูฯ ย้ำว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการระบุแหล่งที่มาบนฉลากของบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน เพื่อให้ “ฉลากติดตามสินค้าไปทุกที่” ตั้งแต่จากผู้นำเข้า ไปจนถึงโรงงานแปรรูป ไปจนถึงสถานที่วางจำหน่าย ทั้งร้านค้าและแผงลอย เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นอย่างชัดเจน และมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกซื้อ และในขณะเดียวกันก็จะสามารถติดตามข้อมูลได้จนถึงแหล่งที่มา นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขฯ จะจัดทำตราเครื่องหมายเป็น 2 รูปแบบหลัก ทรงกลมหมายถึงเนื้อสุกรที่ผลิตในไต้หวัน และทรงสามเหลี่ยมหมายถึงเนื้อสุกรนำเข้า ซึ่งจะระบุชื่อประเทศที่นำเข้าไว้อย่างชัดเจน โดยจะให้ผู้ค้าส่งนำตราเครื่องหมายไปใช้งานต่อไป และนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปี 2021 เป็นต้นไป หากพบว่ามีสินค้าที่ไม่ได้ติดฉลากหรือตรวจพบว่าสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุไว้บนฉลาก ผู้ประกอบการรายนั้นๆ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

โดยนรม.ซูฯ เน้นว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ปกป้องเนื้อสุกรของไต้หวัน เช่นเดียวกับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงที่ผ่านมา พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจต่อนโยบายของภาครัฐ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อไป

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด