02/05/2024

Taiwan Today

เศรษฐกิจ

เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มสตรีวัยกลางคน ทุบสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี

24/01/2022
เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มสตรีวัยกลางคน ทุบสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี (ภาพจากสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ)
สภาบริหาร วันที่ 22 ม.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ  “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2022” (2022 Gender at a Glance in R.O.C. (Taiwan)) โดยในแง่ของการเข้าร่วมในตลาดแรงงานในปี 2020 อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีอายุในช่วงระหว่าง 45 – 64 ปี  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในจำนวนนี้ ประชากรผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 45 – 49, 50 – 54, 55 - 59 และ 60 – 64 ปี ต่างมีอัตราการเข้าร่วมเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ประชากรหญิงกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังมีบุตร พร้อมทั้งช่วยยกระดับศักยภาพด้านการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มวัยกลางคน รวมถึงสร้างเสถียรภาพในการว่าจ้างงาน
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ แถลงว่า รายงานภาพลักษณ์ทางเพศนำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างทางเพศสถานะในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดจากการพัฒนา เพื่อช่วยให้ประชาชน “มองเห็นความแตกต่างทางเพศสถานะ” รายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2022 แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาความเสมอภาคทางเพศในด้านต่างๆ มีการยกระดับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ ดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index, GII) ในปี 2019 อยู่ที่ระดับ 0.045 โดยอันดับความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย
 
ในด้านการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจและสวัสดิการ ในปี 2020 ค่าตอบแทนระหว่างชาย – หญิงยังคงมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ร้อยละ 14.8 ลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับปี 2019 ถือเป็นสัดส่วนความเหลื่อมล้ำที่ดีกว่าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยในปี 2020 การเข้าร่วมในตลาดแรงงานของกลุ่มประชากรหญิงที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ครองสัดส่วนร้อยละ 51.4 ซึ่งยังคงรักษามาตรฐานไว้ได้เช่นเดียวกับในปี 2019 ในจำนวนนี้ การเข้าร่วมตลาดแรงงานของกลุ่มประชากรหญิงที่มีความบกพร่องทางร่างกาย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.7
 
สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่า เพื่อขจัดปัญหาความแตกต่างทางเพศสถานะในทุกภาคส่วน สภาบริหารได้ยึด “แผนโครงสร้างนโยบายความเสมอภาคทางเพศ” เป็นแนวทางในการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนทางเพศที่แตกต่าง ผ่านการผลักดันภารกิจว่าด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในด้านต่างๆ และคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีเพศสภาพต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก เพื่อสร้างสังคมที่มีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อทุกเพศสภาพ และมีความสงบสุขต่อไป
 
 

ประเด็นร้อน

ประเด็นล่าสุด